เมื่อวันที่ 24 เม.ย. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (จังหวัดนครราชสีมา)” ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ต.สุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา โดยมี ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. รศ.ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดี มทส. หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารและบุคลากรอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ เฝ้าฯ รับเสด็จฯ
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร รศ.ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดี มทส. เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึก จากนั้น ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.กระทรวง อว. กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาการจัดสร้างอาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (จังหวัดนครราชสีมา) และกราบบังคมทูลเบิกผู้มีอุปการคุณเข้ารับพระราชทานของที่ระลึก จำนวน 60 ราย
จากนั้น เสด็จฯไปทรงเปิดอาคารฯ โดยทรงกดปุ่มเปิดแพรคลุมป้ายอาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (จังหวัดนครราชสีมา) และเสด็จฯ ไปยังบริเวณนิทรรศการ โดยมี ผศ.ดร.ปภากร พิทยชวาล ผอ.อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างถวายรายงาน "ผลงานการส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรม ภายใต้อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง" และนำเสนอหุ่นชักสายเชิดไดโนเสาร์จำลอง “สิรินธรน่า โคราชเอนซิส (Sirindhorna Khoratensis)” ของระลึกในพิธีเปิดอาคารฯ และทูลเกล้าฯ ถวายหมากรุกของผู้พิการทางสายตา และเครื่องช่วยสอนพิมพ์อักษรเบรลล์ เพื่อพระราชทานตามพระราชอัธยาศัย
ต่อจากนั้น ทรงทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานนวัตกรรมเด่นด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ด้านอุตสาหกรรมดิจิตัล ด้านชีวการแพทย์ และด้านอุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุศาสตร์ อีกทั้งทรงปลูกต้นจำปีสิรินทร ณ บริเวณด้านนอกอาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินกลับ
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวให้รายละเอียดถึงอุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้เข้มแข็ง สร้างธุรกิจและเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงการนำผลงานวิจัยเข้าสู่ระบบการคุ้มครอง และการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เป็นตัวกลางเชื่อมโยงการพัฒนานวัตกรรม ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน/อุตสาหกรรม ภาคการศึกษา และภาคชุมชน/สังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางการให้บริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวง อว. กับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จำนวน 9 แห่ง ดำเนินงานร่วมกันในลักษณะเครือข่ายเพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านเทคโนโลยีและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่
“ปัจจุบันอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ให้บริการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา การสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการที่อาศัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นฐานในการประกอบธุรกิจ โดยเชื่อมโยงองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยไปสู่ภาคเอกชน และผลักดันให้เกิดการนำทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและพัฒนาในภาครัฐมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาคารแห่งนี้ประกอบไปด้วยพื้นที่ห้องปฏิบัติการ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ห้องประชุม สำนักงาน พื้นที่ทำงาน สิ่งอำนวยความสะดวก และสาธารณูปโภคที่สำคัญในการวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรม โดยมีกลไกสนับสนุนและบุคลากรที่พร้อมให้บริการเพื่อเชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และแหล่งข้อมูล ตลอดจนการบริการอื่น ๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษาและภาคเอกชน จึงถือได้ว่าที่แห่งนี้เป็นนิคมวิจัยที่สามารถให้บริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ได้อย่างครบวงจร” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
อุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (จ.นครราชสีมา)
โทร. 044-223-600
Facebook : อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จ.นครราชสีมา
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.