เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2566 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิด "การทดสอบภาคสนามจากผลงานโครงการวิจัยและพัฒนาแพล็ตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย" โดยมี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. และ ศ.ดร.นิสัย เฟื่องเวโรจน์สกุล ผู้แทนผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สายงานกลยุทธ์องค์กร ร่วมแสดงความยินดี ทั้งนี้ ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) ได้กล่าวรายงานการจัดงานในครั้งนี้ ณ ห้อง SD601 ชั้น 6 อาคารสราญวิทย์ (อาคาร 12) และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า โครงการวิจัยและพัฒนาแพล็ตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย เป็นตัวอย่างของความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ที่หลากหลายและจำเป็นทั้งสิ้น ที่มาช่วยส่งเสริม สนับสนุน และทำให้เกิดความสำเร็จใหม่ในครั้งนี้ เราจะได้เห็นอุตสาหกรรมรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าซึ่งมีอนาคตมาก เนื่องจากประเทศไทยมีการใช้งานรถมอเตอร์ไซค์จำนวนมาก ปัญหาที่ตามมาคือเกิดมลพิษในอากาศ รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ เกิดการทำอุตสาหกรรมแพ็กแบตเตอรี่ที่สามารถใช้กับรถมอเตอร์ไซค์ได้หลายยี่ห้อ เป็นก้าวหนึ่งที่จะนำไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยการขายความรู้ ขายวิทยาศาสตร์ ขายเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดรายได้สูงเข้าสู่ประเทศ กระทรวง อว. ในฐานะรัฐบาลจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้ให้ก้าวไปสู่ระดับโลก เป็นกระทรวงหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทยบนพื้นฐานเศรษฐกิจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ประเทศไทยต้องไม่มุ่งซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศเท่านั้น แต่ต้องมุ่งซื้อเทคโนโลยีมาเพื่อศึกษา พัฒนา และสามารถส่งออกเทคโนโลยีที่ผลิตและพัฒนาจากฝีมือคนไทยไปสู่นานาชาติ สร้างอาชีพที่มีรายได้สูงให้คนไทย การพัฒนาโครงการวิจัยและพัฒนาแพล็ตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทยจนสามารถเข้าสู่การทดสอบภาคสนามได้ ถือเป็นอีกความสำเร็จหนึ่งที่น่าภาคภูมิใจ และหวังว่านักวิจัย นักวิชาการ และทุกหน่วยงานจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมไทยให้ประสบความสำเร็จต่อไป
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า วันนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นการทดสอบการขับเคลื่อนระบบแบตเตอรี่มาตรฐานสำหรับมอเตอร์ไซค์ เนื่องจาก ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการใช้งานมอเตอร์ไซค์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยในปัจจุบันได้มีนโยบายของโลกที่เน้นการใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น มอเตอร์ไซค์เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่เราต้องมุ่งพัฒนาให้ตอบโจทย์นโยบายดังกล่าว เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ การพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าจึงเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เราจึงต้องเร่งพัฒนามาตรฐานใหม่สำหรับระบบแบตเตอร์รี่มอเตอร์ไซค์ในประเทศไทย เพื่อเป็นมาตรฐานใหม่ของโลกต่อไปได้ สำหรับโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาระบบแบตเตอรี่ที่จะใช้กับระบบมอเตอร์ไซค์ โดยการเปลี่ยนระบบจากการชาร์จที่บ้านไปชาร์จที่สถานี ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ทันที สะดวกและรวดเร็ว ปัจจุบัน ยังไม่มีมาตรฐานของสถานีชาร์จและชนิดของแบตเตอรี่ที่ใช้ ฉะนั้นมอเตอร์ไซค์แต่ละยี่ห้อจะใช้แบตเตอรี่และระบบการชาร์จคนละแบบ ซึ่งก่อให้เกิดการยุ่งยากในการใช้งาน ประเทศไทยจึงได้พัฒนาระบบและมาตรฐานสำหรับการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในครั้งนี้ ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์ ENTEC ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จำนวนมาก โครงการลักษณะนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับผู้ประกอบการจริงในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ อุตสาหกรรมมอเตอร์ไซค์ ซึ่งได้รับความร่วมมือที่ดีมากกับทุกหน่วยงาน โครงการนี้เป็นที่น่าภูมิใจของระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าความสำเร็จไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากดำเนินการเฉพาะในด้านวิจัยและการพัฒนาเท่านั้น แต่จำเป็นจะต้องเชื่อมโยงไปสู่ผู้ผลิตภาคเอกชน ผู้ผลักดันนโยบายภาครัฐและผู้ใช้งาน ซึ่งจะทำให้การดำเนินการเกิดความสมดุลและเป็นไปตามเป้าหมายร่วมกัน
ดร.สุมิตรา กล่าวว่า จากที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน โดยหนึ่งในนโยบายในการผลักดันในการดำเนินการวิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนสำคัญ รวมถึงการสร้างความสามารถในการผลิตที่เป็นมาตรฐานและมีคุณภาพของยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างกว้างขวางในประเทศ ซึ่งจะต้องตอบสนองการใช้งานที่สะดวก คุ้มค่า และมีราคาที่เหมาะสม ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของการดำเนินการวิจัยในโครงการวิจัยและพัฒนาโครงการวิจัยและพัฒนาแพล็ตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตระบบประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยน และผู้ให้บริการระบบประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยนที่ได้มาร่วมมือกัน โดยงานวิจัยนี้มีเป้าหมายเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาศักยภาพด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ถือเป็นการสร้างเทคโนโลยีที่มีบทบาทสูงต่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ การทดสอบภาคสนามจากผลงานโครงการวิจัยและพัฒนาแพล็ตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย เกิดจากการสนับสนุนงบประมาณของ บพข. ให้กับ สวทช. โดย ENTEC ในการดำเนินโครงการร่วมกับการสนับสนุนจากภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งสิ้น 9 หน่วยงาน เกิดเป็นระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้พร้อมเข้าสู่ช่วงของการทดสอบจากภาคสนามแล้ว ถือเป็นอีกความสำเร็จหนึ่งของคนไทย และตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ มุ่งผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด นำประเทศไทยสู่ประเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 ที่จะถึง
ทำข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
ถ่ายภาพ : นายสกล นุ่นงาม
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.