วันที่ 25 พ.ค. ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดตัวและลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences : TAS) โดยมี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ ที่ปรึกษา รมว.อว. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานกรรมการบริหารหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผอ.บพค. ผู้บริหารกระทรวง อว. ผู้บริหารสถาบันการศึกษา และหน่วยงานเอกชน เข้าร่วม ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 สำนักงานปลัดกระทรวง อว. (โยธี)
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ธัชวิทย์ เกิดจากความประสงค์ที่ต้องการให้วิทยาศาสตร์และวิทยาการของไทยทำงานร่วมกัน นักวิทยาศาสตร์ไม่ควรทำงานแค่เฉพาะทาง ธัชวิทย์ต้องเป็น Think Tank ของประเทศ หากประเทศมีปัญหาที่ต้องการคำตอบ ธัชวิทย์ต้องเป็นหนึ่งในการตัดสินใจนั้น และเป็น virtual organization โดยไม่จำเป็นต้องสร้างหน่วยงานใหม่ แต่นำคนเก่งจากหลายสถาบันมารวมกัน พัฒนาเรื่องที่น่าสนใจ ให้มีความก้าวหน้าระดับโลก ต้องสร้างคนที่เหมาะสม พร้อมทำงานให้อุตสาหกรรม และสอดคล้องกับทิศทางของโลก ซึ่งต้องทำให้เร็ว ทำให้มาก จึงจะประสบความสำเร็จ ธัชวิทย์จะเป็นสูตรสำเร็จในการทำงานร่วมกันของหน่วยงานในกระทรวง อว. ที่ประกอบด้วยสถาบันการศึกษาชั้นนำ และหน่วยงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งสิ่งที่ตนจะขอให้ธัชวิทย์ทำต่อจากนี้ คือ ทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก "งานใดทำแล้วไม่สนุก งานนั้นยากจะเก่ง"
รมว.อว.กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ตนอยากเสนอ 2 หลักสูตรให้ธัชวิทย์ร่วมกันทำขึ้น คือ 1. เรื่องการท่องเที่ยวของไทย เพราะไทยมีการท่องเที่ยวที่เป็นระดับมหาอำนาจของโลก จึงอยากให้ผลิตหลักสูตรด้านการท่องเที่ยว เป็นหลักสูตรที่เชื่อมโยงกับโรงแรมของไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก โดยให้ทำเป็นระดับปริญญาตรี 2. เรื่องของเด็กไทยที่สามารถสร้างผลงานจากการประกวดด้านวิทยาศาสตร์ ให้นำเด็กกลุ่มนี้มาศึกษาในสถาบันของธัชวิทย์ โดยที่ไม่เน้นเกรด แต่เน้นที่โครงงานการปฏิบัติ หาการเรียน การสอนที่มีความสนุกควบคู่ไปกับการเรียนจากการปฏิบัติ เพื่อรักษาความเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ปฏิบัติเช่นนี้ต่อไป
ขณะที่ ศ.ดร.สมปอง กล่าวว่า “ธัชวิทย์” มีกลไกขับเคลื่อนใน 3 มิติ คือ 1) Frontline Think Tank หรือคลังความคิดนักวิทย์เพื่อเป็นศูนย์กลางของผู้เชี่ยวชาญ 2) Frontier Science Alliance การทำวิจัยขั้นแนวหน้า ผลกระทบสูงต่อเศรษฐกิจและสังคม และรองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และ 3) Future Graduate Platform หรือการสร้างและพัฒนาบัณฑิตวิทย์สมรรถนะสูงที่พัฒนาจากความร่วมมือของสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน กล่าวได้ว่า ธัชวิทย์ จะเป็นสถานที่รวบรวมคนเก่งของ อว. จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง (Hub) ในการเชื่อมโยงเครือข่ายนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยมาทำงานร่วมกัน ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด เพื่อให้ประเทศก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายใน พ.ศ. 2570
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.