เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า เพื่อให้การพัฒนาบัณฑิตให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ สำนักงานปลัดกระทรวง อว. จึงร่วมกับอีก 6 มหาวิทยาลัย ได้แก่ 1. มหาวิทยาลัยพะเยา 2. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 3. มหาวิทยาลัยขอนแก่น 4. มหาวิทยาลัยบูรพา 5. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ 6. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทำโครงการนำร่อง คือ การจัดทำใบรับรองผลการเรียน (Transcript) ที่ระบุทักษะของผู้เรียน เพิ่มเติมจากใบรับรองผลการเรียนในระบบปกติ หรือเรียกว่า Skill Transcript ที่จะแสดงข้อมูลทักษะของบัณฑิตที่ได้รับจากการศึกษาในหลักสูตร และการสอบทานทักษะจากผู้ใช้บัณฑิต โดยขณะนี้ทั้ง 6 มหาวิทยาลัยนำร่อง ได้เริ่มจัดทำหลักสูตรฐานทักษะที่จะบรรจุใน Skill Transcript แล้ว ซึ่งแต่ละแห่งได้แลกเปลี่ยนแนวทางในการจัดทำหลักสูตรนำร่องโดยใช้ผลวิเคราะห์ Skill Mapping หรือ ฐานข้อมูลกรอบทักษะแรงงาน ซึ่งเป็นระบบวิเคราะห์ความต้องการตลาดแรงงาน ที่เชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐ-เอกชน เพื่อการออกแบบหลักสูตรของมหาวิทยาลัยให้สอดคล้อง พร้อมอัพเดททักษะที่ต้องใช้ในแต่ละสายงาน ซึ่งท้ายที่สุดจะสร้างมาตรฐานในการจัดทำหลักสูตรโดยใช้ผลวิเคราะห์วิเคราะห์ทักษะ Skill Mapping ในการจัดการเรียนการสอน และนำไปสู่การจัดทำ Skill Transcript เพื่อเป็นกลไกการปฏิรูประบบอุดมศึกษาไทย โดยหลังจากนี้จะมีการขยายผลไปยังทุกมหาวิทยาลัยต่อไป
ด้าน ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยนำร่องทั้ง 6 แห่ง มีความก้าวหน้าในการจัดทำหลักสูตรโดยให้สอดคล้องกับทักษะของผู้ใช้บัณฑิต ดังนี้ 1.มหาวิทยาลัยพะเยา นำร่องใน 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย 2.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำร่อง 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ (ต่อเนื่อง) และหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมการบินและการบริการ 3.มหาวิทยาลัยบูรพา นำร่อง 5 หลักสูตร ได้แก่ 1) หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ 2) หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมวัสดุอากาศยานและยานยนต์สมัยใหม่ 3) หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาปัญญาประดิษฐ์ประยุกต์และเทคโนโลยีอัจฉริยะ (หลักสูตรสองภาษา) 4) หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการจัดการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ 5) หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต/หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมและการจัดการเทคโนโลยี
4.มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำร่องในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมสื่อดิจิตอล (หลักสูตรนานาชาติ) และ 5.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้จัดทำหลักสูตรโดยใช้ Skill Mapping ด้วยรูปแบบ Micro-Credentials ซึ่งเป็นหน่วยย่อยกว่าระดับรายวิชา (Module) ของรายวิชาพื้นฐานในทุกหลักสูตร กลุ่มรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับอาชีพตามหลักสูตรปกติ และหลักสูตร Up-skill & Re-skill ตามความต้องการของสถานประกอบการ
“Skill Transcript เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปอุดมศึกษา โดยจะเพิ่มเติมจาก Transcript ปกติที่ระบุวิชาที่เรียนของบัณฑิตเท่านั้น Skill Transcript จะช่วยให้ภาคเอกชนหรือผู้ใช้บัณฑิต ทราบว่าบัณฑิตที่จบการศึกษา นอกจากจากรายวิชาที่เรียนแล้ว บัณฑิตยังมีทักษะอะไรบ้างที่เป็นประโยชน์ต่องาน หรือ เมื่อรับบัณฑิตทำงานแล้ว ควรจะพัฒนาทักษะอะไรเพิ่มเติม นอกจากนี้ หลักสูตรที่จัดทำ Skill Transcript จะช่วยให้การจัดการศึกษาต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้ก้าวทันกับความรู้ ทักษะที่เปลี่ยนแปลงไป” ศ.ดร.ศุภชัย กล่าว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.