เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2566 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการเด่น ภายใต้แผนงานสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา, ธัชชา และแผนงานสถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ, ธัชชา ผ่านวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ (ธัชชา) โดยมี ผศ.ชวลิต ขาวเขียว ผู้อำนวยการสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา และ ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ เป็นผู้กล่าวรายงาน ณ ห้องแคทลียา โรงแรมรามา การ์เด้น กรุงเทพฯ
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า จากการทำงานของธัชชาในช่วงเวลา 2 ปีกว่าที่ผ่านมา เรามีผลงานมากมายที่จะนำเสนอออกสู่สาธารณชน ขณะนี้อารยธรรมสุวรรณภูมิเป็นที่รู้จักของคนในหลายประเทศ ซึ่งเป็นผลงานที่ยกระดับขีดความสามารถของคนในประเทศ โดยนักวิชาการของเรามุ่งมั่นที่จะศึกษาเรื่องราวในอดีตจนกลายมาเป็นผลงานวิจัยที่ทรงคุณค่า ทำให้การท่องเที่ยว คุณค่าและราคาของประเทศสูงขึ้น นอกจากนั้นยังทำให้ประเทศเติบโตขึ้น การทำงานในหลายด้านง่ายขึ้น รวมทั้งผู้คนจากนานาประเทศรู้จักเรามากขึ้นอีกด้วย
“ปัจจุบันเราไม่ได้ทำวิจัยเพื่อวิจัยเพียงอย่างเดียว แต่สามารถนำผลงานวิจัยเหล่านั้นไปเผยแพร่ในระดับโลกได้ โดยงานที่ทำอยู่เป็นงานที่มีความหวังที่จะทำให้ประเทศดีขึ้น สามารถก้าวเข้าไปแข่งขันกับประเทศอื่นได้มากขึ้น และเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ แต่ต้องยกระดับการทำงานกับต่างประเทศให้มากขึ้น นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วย เรื่องของสุวรรณภูมิศึกษาต้องทำให้โบราณคดีของไทยขึ้นสู่ระดับโลกให้ได้ มหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนในเรื่องของโบราณคดีจะต้องตื่นตัวให้มาก ถ้าความสำเร็จนี้เกิดขึ้นจะมีคนที่สนใจในโบราณคดีมากขึ้น” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าว
ขณะที่ ผศ.ชวลิต กล่าวว่า ธัชชา ได้ดำเนินการขับเคลื่อนแผนพัฒนาทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปะกรรมศาสตร์ของประเทศ ตามนโยบาย อว. ว่าด้วยการเดิน 2 ขา นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และด้านสังคมศาสตร์สนับสนุนการค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ ซึ่งการขับเคลื่อนที่ผ่านมาทำให้เรื่องนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น สถาบันสุวรรณภูมิศึกษา เป็น 1 ใน 5 สถาบันที่ขับเคลื่อนถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยผ่านคุณค่าในหลากหลายมิติ ทั้งมิติภูมิศาสตร์การตั้งถิ่นฐานและความเชื่อมโยงในพื้นที่สุวรรณภูมิ มิติเทคโนโลยีวิทยาการและการผลิตในสุวรรณภูมิ มิติเกี่ยวกับผู้คนในสุวรรณภูมิ และมิติศิลปะและวัฒนธรรมในสุวรรณภูมิ รวมถึงได้จัดทำระบบฐานข้อมูล และโครงการวิจัยที่สร้างผลกระทบสูง ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย นักวิจัย มหาวิทยาลัย และหน่วยงานอื่น ๆ อีกมากมาย
ด้าน ผศ.ชัยชาญ กล่าวว่า สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ เป็น 1 ใน 5 สถาบันภายในธัชชา ที่มุ่งเน้นผลักดันศิลปกรรมของชาติให้มีความสำคัญต่อประเทศ โดยมุ่งที่จะสื่อสารอารยะด้านศิลปะไปสู่สายตาของคนทั้งหลายในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นผลงานชั้นครูจากเหล่าศิลปินแห่งชาติ งานฝีมือจากครูช่างในภูมิภาคต่าง ๆ และผลงานร่วมสมัยจากศิลปินรุ่นใหม่ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางวิชาการในด้านศิลปะและการออกแบบของประเทศและของโลก เป็นสถาบันวิจัยด้านศิลปะที่มีความเข้มข้นทางวิชาการและการวิจัยที่เอื้อกับการเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต สำหรับทุกเพศทุกวัย ที่สำคัญยังเป็นจุดหมายสำคัญสำหรับคนไทยทั้งประเทศ รวมทั้งชาวต่างประเทศให้เข้ามาศึกษา สัมผัสศิลปกรรมชั้นเลิศแขนงต่าง ๆ ที่ต่อไปจะรวบรวมอยู่ในสถาบันแห่งนี้ เพื่อให้เกิดการประยุกต์ให้เป็นผลงานร่วมสมัย และนำไปสู่การพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยต่อไปในอนาคต
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.