ภาวะแพ้อาหาร .. อันตรายถึงชีวิต
“ภาวะแพ้อาหาร” คือ อาการไม่พึงประสงค์ที่แสดงออกทางร่างกาย อันเกิดจากภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่ออาหารชนิดนั้นๆ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดอาการซ้ำๆ ได้หากได้รับอาหารที่แพ้ชนิดเดิม ปัจจุบันภาวะแพ้อาหารพบได้บ่อยถึงประมาณ 1-10% ของประชากร อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบภาวะแพ้อาหารในผู้ป่วยวัยเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ และสามารถพบร่วมกับโรคภูมิแพ้อื่นๆ เช่น โรคผื่นแพ้ผิวหนัง หอบหืด และภูมิแพ้จมูกอักเสบ
โดยอาหารที่พบว่ามีผู้แพ้บ่อย ได้แก่ นมวัว ไข่ แป้งสาลี ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วตระกูล Tree Nuts เช่น อัลมอนด์ วอลนัทมะม่วงหิมพานต์ แมคคาเดเมีย พิสตาชิโอ และอาหารทะเลเป็นต้น
ชนิดไม่เฉียบพลัน (Non-IgE-Mediated Food Allergy) เป็นกลุ่มที่มีอาการแบบล่าช้า ค่อยๆ ปรากฏอาการหลายชั่วโมงหรือหลังจากรับประทานอาหารเข้าไปแล้ว เช่น ผื่นเรื้อรังโดยจะมีผื่นแดง คัน แห้ง ในเด็กมักจะเป็นบริเวณที่แก้มหรือข้อพับ ถ้าเป็นอาการที่ระบบทางเดินอาหาร เมื่อได้รับอาหารที่แพ้อาจถ่ายเป็นมูกเลือด อาเจียน และถ่ายเหลวรุนแรง
ชนิดเฉียบพลัน (IgE-Mediated Food Allergy) มีอาการตาบวม ปากบวม ผื่นลมพิษ หลอดลมตีบ ไอ แน่นหน้าอกหายใจไม่ออก ปวดท้อง อาเจียน โดยอาการจะเกิดขึ้นภายใน30 นาที-1 ชั่วโมง หลังจากรับประทานอาหาร และมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้รุนแรงได้
ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) เป็นอาการแพ้ในระดับรุนแรงที่สุดและเป็นอันตรายถึงชีวิต อาการที่เกิดขึ้น ได้แก่ ผื่นแดงตามผิวหนัง ลมพิษ คัน ผิวหนังแดงหรือซีด วิงเวียนศีรษะ หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือท้องเสีย
นอกจากนี้ยังมีอาการแสดงอื่นๆ ที่ต้องนึกถึงภาวะแพ้อาหาร ได้แก่ เด็กที่น้ำหนักไม่ขึ้นตามเกณฑ์ หรือเติบโตช้าผิดปกติในบางครั้ง ผู้ป่วยแพ้อาหารอาจเกิดอาการแพ้ที่รุนแรง (anaphylaxis)โดยมีอาการแสดงหลายระบบพร้อมๆ กันได้ ซึ่งอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ทดสอบการแพ้อาหาร
การทดสอบการแพ้อาหาร (Oral Food Challenge สำคัญที่จะช่วยป้องกันอาการแพ้อาหาร หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่แพ้ได้อย่างถูกต้อง การทดสอบการแพ้อาหารจะทำโดยให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่สงสัยว่าทำให้เกิดอาการแพ้ เริ่มจากปริมาณน้อยๆ และค่อยๆ เพิ่มปริมาณ เพื่อดูปฏิกิริยาการแพ้ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการยืนยันการวินิจฉัยโรคที่น่าเชื่อถือมากที่สุด แต่ผู้ป่วยอาจจะเกิดปฏิกิริยาการแพ้รุนแรงได้ระหว่างที่ทำการทดสอบจึงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลโดยแพทย์เฉพาะทางภูมิแพ้และต้องทำการทดสอบในสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน มีอุปกรณ์ ยา และเครื่องมือในการรักษา
ผู้ที่เหมาะกับการทดสอบแพ้อาหาร ได้แก่ ผู้ที่เคยทานอาหารได้ แต่ต่อมาถูกวินิจฉัยว่าแพ้อาหารและต้องการพิสูจน์ว่าแพ้หรือไม่ ผู้ที่เคยตรวจจากผลเลือดว่าแพ้อาหารแต่ไม่มีอาการ ผู้ที่เคยมีประวัติยืนยันว่าแพ้อาหาร แต่ต้องการรู้ว่าหายแล้วหรือยัง ผู้ที่สงสัยว่าตนเองแพ้อาหาร แต่มีอาการแสดงไม่ชัดเจน โดยวิธีทดสอบอาการแพ้อาหาร (Oral Food Challenge) เบื้องต้นได้แก่
การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin Prick Tests) ผู้ป่วยต้องไม่มีอาการเจ็บป่วยอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ก่อนวันที่ทำการทดสอบและงดรับประทานยาแก้แพ้ 1 สัปดาห์ ก่อนวันที่ทำการทดสอบ เมื่อทดสอบแล้วสามารถทราบผลได้ภายใน 15-20 นาที (ในกรณีที่มีอาการแพ้รุนแรงจะสามารถทดสอบได้หลังจากมีอาการ 1 เดือน)
การตรวจเลือด (Blood Test For Specific IgE) ไม่ต้องงดยาแก้แพ้ก่อนการทดสอบ เมื่อทดสอบแล้วสามารถทราบผลได้ภายใน 3-5 วันทำการ โดยมีทั้งผลเป็นบวกและลบหากผลเป็นบวก แพทย์อาจให้งดหรืออาจให้ทำทดสอบด้วยการรับประทานอาหาร (Oral Food Challenge) ตามความเหมาะสม (ในกรณีที่ผู้ป่วยแพ้อยู่ก่อนแล้วและต้องการรู้ว่าหายแพ้แล้วหรือไม่) และขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา
การแพ้อาหารอาจเกิดจากพันธุกรรมแต่กำเนิดหรือเพิ่งเกิดขึ้นตอนโตก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นการทดสอบการแพ้อาหารกับแพทย์เฉพาะทางเพื่อให้มั่นใจก่อนเลือกรับประทานอาหารเข้าไปในร่างกายจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการแพ้รุนแรง ไม่แนะนำให้ใช้ยาแก้แพ้ เพราะอาจทำให้ร่างกายแพ้รุนแรงกว่าเดิมได้ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางจะดีที่สุด
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
Facebook : @MHESIThailand
Twitter : @MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.