5 ผลงานดีๆ ที่ร่วมขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG
1. Para Dough ของเล่นจากยางพาราไทย พร้อมตีตลาดส่งออกของเล่นโลก ผลิตภัณฑ์ของเล่นยางสำหรับปั้น มีลักษณะคล้ายดินน้ำมัน แต่ปลอดภัย ไร้กลิ่น ปราศจากสารเคมีอันตราย ผลิตจาก ‘ยางพารา’ พืชเศรษฐกิจของไทย ผลงานวิจัย โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ 100% ไม่มีสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้อย่างกลูเตนจากแป้งสาลีและสารเคมีที่เป็นอันตราย ไม่มีโลหะหนักเป็นส่วนประกอบ ไม่มีส่วนผสมของสารกันบูด อีกทั้งยังสามารถฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียก่อนและหลังการเล่นด้วยการฉีดพ่นแอลกอฮอล์แล้วนวดก้อนแป้งจนแอลกอฮอล์ระเหยโดยไม่ทำให้โดเสียสภาพ การพัฒนา Para Dough มีส่วนช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราไทยได้สูง 5-6 เท่า ถือเป็นอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับการผลิตผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น และเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยเสริมการใช้ประโยชน์จากยางพาราไทย ส่งเสริมการยกระดับสินค้าการเกษตรไทยตามโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Economy Model) ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ ที่มุ่งใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียกระดับเศรษฐกิจฐานชีวภาพ สร้างมูลค่าเพิ่ม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
2. ไบโอเมทานอลจากวัสดุเหลือทิ้ง โดยนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมไฟฟ้าถ่านหินมาเพิ่มมูลค่าร่วมกับก๊าซไฮโดรเจน ก๊าซมีเทน และกลีเซอรอลดิบ ในการผลิตไบโอเมทานอลระดับกึ่งอุตสาหกรรม เพื่อต่อยอดการสร้างโรงงานไบโอเมทานอลต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย โดยปัจจุบัน บริษัท BLCP power เป็นพันธมิตรภาคเอกชนที่นำผลงานวิจัยระดับห้องปฏิบัติการของ วว. ไปขยายผลและต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อลดการนำเข้าเมทานอลจากต่างประเทศ
3. วว. ขับเคลื่อน BCG เพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งภาคการเกษตร วิจัยพัฒนาเป็นกระถางเพาะชำย่อยสลายได้
โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มุ่งขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ BCG ประสบผลสำเร็จในการเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งจากภาคการเกษตร ได้แก่ ใยมะพร้าว แกลบ เปลือกข้าวโพด ฟางข้าว หญ้าเนเปีย เยื่อกล้วย ชานอ้อย ผักตบชวา และไผ่ เป็นต้น นำมาวิจัยพัฒนาเป็นกระถางเพาะชำที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อทดแทนและลดการใช้ถุงเพาะชำที่ทำจากพลาสติก ระบุผลิตภัณฑ์มีความแข็งแรง ทนทาน มีความยืดหยุ่น ทำให้รากพืชสามารถชอนไชออกจากก้นกระถาง/ด้านข้างของกระถางได้ มีความสามารถในการอุ้มน้ำ ระบายความร้อนได้ดี ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช
4. สวทช. ยกระดับวิสาหกิจชุมชนเพิ่มมูลค่า “ฟักทองไข่เน่า”
สู่พืชพื้นเมืองอัตลักษณ์ จ.น่าน โดยการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีไปให้ความรู้เรื่องการปรับปรุงพันธุ์ รวมทั้งให้ความรู้ด้านการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตที่สม่ำเสมอและมีคุณภาพตรงความต้องการของตลาด ที่สำคัญยังสามารถปลูกได้ทั้งปี เพราะระยะเวลาเก็บเกี่ยวลดลงจาก 150 วัน เหลือเพียง 85-90 วัน” นอกจากนี้ยังผลักดันให้ฟักทอง 1 ผลเกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด จึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปฟักทองเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เส้นบุกฟักทอง เส้นขนมจีนฟักทอง ข้าวเกรียบฟักทอง ฟักทองผง ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตและช่องทางการตลาดให้ชุมชนได้มากขึ้น และนอกจากเนื้อฟักทองที่นำไปแปรรูปแล้ว ในส่วนของเมล็ดที่เหลือจากการตัดแต่ง นำมาเพิ่มมูลค่าด้วยการสกัดเป็น “น้ำมันเมล็ดฟักทอง” ส่วนผลผลิตฟักทองที่เสียหายในแปลงหรือเศษเหลือจากการตัดแต่ง ยังสามารถนำไปหมักกับหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่อทำเป็นอาหารเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี ทำให้ได้ไข่ไก่ที่มีสารอาหารเพิ่มขึ้นและคุณภาพดี เนื่องจากในฟักทองมีสารอาหารเบต้าแคโรทีนสูง การเพิ่มมูลค่าผลผลิต “ฟักทองไข่เน่า” ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ตำบลบัวใหญ่ อ.นาน้อย จ.น่าน เป็นชุมชนตัวอย่างของการยกระดับการพัฒนาชุมชนที่ตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ BCG ทุกด้าน ด้วยการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์และระบบการผลิตทางการเกษตรให้ปลอดวัสดุเหลือใช้ (Zero waste agriculture) อย่างแท้จริง
5. วว. ร่วมกับ บริษัท ฝาจีบ จำกัด (มหาชน) สนองตอบนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ BCG โดยทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular economy มุ่งเน้นการพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด หรือพัฒนาวัสดุรูปแบบใหม่ ที่มุ่งเน้น Low carbon ส่งเสริมการใช้ซ้ำและให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียจากการผลิต ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตมาเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ อันจะเป็นการสนับสนุนการพัฒนาของประเทศไทยสู่เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green economy อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ยังมีผลงานและโครงการอีกมากมายที่ร่วมกันขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG สามารถติดตามได้ที่เพจ กระทรวง อว. ได้เลย
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
Facebook : @MHESIThailand
Twitter : @MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.