อว. 3 ปีกับการปฏิรูปวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green (BCG) Economy)
“BCG แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ยกระดับเศรษฐกิจแบบทำน้อยได้มาก”
“BCG ยกระดับเศรษฐกิจแบบทำน้อยได้มาก” แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green (BCG) Economy) เป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่ อว. ร่วมขับเคลื่อน ซึ่งจะเป็นผลประโยชน์ของประเทศในระยะยาวเพื่อนำไปสู่ประเทศอุตสาหกรรม 4.0 และนำไปประเทศไทยไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจแบบทำน้อยได้มาก ไม่ใช่ทำมากได้น้อยเหมือนเดิมอีกต่อไป
เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ “การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG เป็นวาระแห่งชาติ” ภายใต้ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 ประกอบด้วย 4 สาขายุทธศาสตร์ และ 1 ฐาน คือ (1) เกษตรและอาหาร (2) สุขภาพและการแพทย์ (3) พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ (4) การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ 1 ฐานความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม
รัฐบาลส่งเสริมการนำ BCG Economy Model มาใช้ทั้งในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม สนับสนุนให้ประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการพัฒนาผลผลิต และผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมควบคู่การรักษาสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการ Big Rock จํานวน 47 โครงการ เพื่อการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยมีตัวอย่างผลสำเร็จจากการดำเนินการขยายผลการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG เช่น ด้าน Smart Technology ได้แก่ ระบบตรวจวัดด้วยเซ็นเซอร์แบบเครือข่ายไร้สายเพื่อการจัดการและควบคุมอัตโนมัติ ระบบการให้น้ำตามสภาวะความต้องการของพืชในระบบแปลงเปิดสำหรับไม้ผล เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย มะยงชิด มะม่วง มะเขือเทศ เมล่อน และสตรอเบอร์รีให้กับ 39 ชุมชน ใน 14 จังหวัด รวมพื้นที่ 1,354 ไร่ ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิต ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงขึ้น ทำให้เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรจำนวน 90 ล้านบาท เป็นต้น
การผลักดันเชิงนโยบาย เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ.2564-2570 ด้วยกรอบงบประมาณ 40,972.60 ล้านบาท
ในการจัดประชุม APEC 2022 ซึ่งประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพ ได้มีการผลักดันเอกสาร “เป้าหมายกรุงเทพ เรื่องเศรษฐกิจ BCG” (Bangkok Goals on BCG Economy) ซึ่งเป็นเอกสารที่จะมีการรับรองในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคปีนี้ เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นของเอเปคในการก้าวไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม
“โครงการนำร่องสาธิตการใช้แผงโซลาร์เซลล์ปลดระวางเพื่อสร้างประโยชน์ต่อชุมชน (Solar Module Second Life for Better Life)” เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่าง อว. และ อก. เป็นตัวอย่างโครงการ showcase ในการประชุมสัปดาห์ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ภาคเอกชนตอบรับนโยบาย BCG โดยมีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการประเภท BCG จำนวน 540 โครงการ มีมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 95,690 ล้านบาท
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.