นับวันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศไทยจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่ทุบสถิติ ‘New High’ อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผลการศึกษายังพบว่าสายพันธุ์ไวรัส SARS-CoV-2 ที่ระบาดในประเทศขณะนี้มากกว่า 50% คือ สายพันธุ์เดลตา (B.1.617.2 อินเดีย) ที่แพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ส่งผลให้ด้านสาธารณสุขของไทยอยู่ในภาวะตึงเครียด หลายโรงพยาบาลไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วย การขยายโรงพยาบาลสนามเต็มขีดจำกัด บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังเริ่มอ่อนล้า
นวัตกรรม “อารี” รถส่งของบังคับทางไกล (Remote-controlled Cart) ซึ่งคิดค้นและพัฒนาโดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นับเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญที่สามารถใช้ขนส่งสัมภาระแทนบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดภาระงาน ลดความเสี่ยง เลี่ยงการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (Personal Protection Equipment; PPE) หรือ ชุดพีพีอี เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่ใส่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยเฉพาะกิจแล้วจะต้องกำจัดชุด PPE ทิ้งทันที
ดร.ก่อเกียรติ เศษชัยชาญ นักวิจัย ทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม เอ็มเทค สวทช. เปิดเผยถึงที่มาการออกแบบนวัตกรรมว่า เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างทีมวิจัยและบริษัท บุญวิศวกรรม จำกัด โดยมีบริษัท เมตริก วิศวกรที่ปรึกษาและสถาปนิก จำกัด ร่วมผลิต “อารี” รถส่งของบังคับทางไกล สำหรับใช้ในการขนส่งสัมภาระแทนบุคลากรทางการแพทย์ เช่น การส่งอาหารและยาให้แก่ผู้ป่วยโควิด-19 ที่พักภายในหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ ลดการแพร่กระจายเชื้อระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิผล
“นวัตกรรม อารี รถส่งของบังคับทางไกล ออกแบบภายใต้แนวคิดการใช้อุปกรณ์ที่หาได้ในท้องตลาดและปลอดภัย ด้วยการนำรถเข็นขนส่งอาหาร มีความกว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 40 เซนติเมตร สูง 80 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 17 กิโลกรัม มีถาดสแตนเลสรองรับสัมภาระ 2 ชั้น มาดัดแปลงใส่กลไกไฟฟ้า อาศัยล้อเลื่อนของรถในการเคลื่อนที่ไปตามคำสั่ง และติดตั้งอุปกรณ์ขับเคลื่อนและระบบควบคุมทั้งหมดภายในตู้ไฟกันน้ำบริเวณด้านล่างของรถเข็น โดยรถอารีสามารถขับเคลื่อนด้วยความเร็วไม่เกิน 2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกจากนั้นแล้วทีมวิจัยยังออกแบบให้รถเข็นมีรัศมีวงเลี้ยวต่ำสุด 0 เซนติเมตร หรือหมุนอยู่กับที่ได้เพื่อความสะดวกในพื้นที่แคบๆ สามารถควบคุมให้เดินหน้า-ถอยหลัง เลี้ยวซ้าย-เลี้ยวขวา ด้วยอุปกรณ์ควบคุมซึ่งเป็นคอนโทรลเลอร์บังคับวิทยุ”
ดร.ก่อเกียรติ อธิบายต่อว่า สำหรับแบตเตอรี่สามารถชาร์จซ้ำได้ โดยมีระยะทางการขับเคลื่อนประมาณ 3 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง รับน้ำหนักสัมภาระได้ไม่ต่ำกว่า 5 กิโลกรัม โดยที่ความเร็วไม่ลดลง และยังสามารถฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อลงบนอุปกรณ์เพื่อทำความสะอาดได้โดยตรง ที่สำคัญแม้จะเป็นอุปกรณ์รถส่งของบังคับทางไกลที่ใช้เฉพาะสถานการณ์ฉุกเฉิน ทีมวิจัยยังได้นำไปทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางไฟฟ้าโดยผ่านการทดสอบมาตรฐาน IEC 60601-1-2 (Electromagnetic Compatibility of Medical Devices) จากศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) เพื่อให้สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ผลิตได้อย่างมีคุณภาพมาตรฐาน และมั่นใจได้ว่าจะไม่สร้างสัญญาณรบกวนต่ออุปกรณ์ทางการแพทย์
“ผลการใช้งาน “อารี” ในหอผู้ป่วยเฉพาะกิจที่โรงพยาบาลกลางและสถาบันประสาทวิทยา พบว่าเจ้าหน้าที่สามารถขับเคลื่อนอุปกรณ์ผ่านรีโมตคอนโทรล ซึ่งควบคุมได้ทั้งความเร็วและการรับ-ส่งสัมภาระได้ตามที่ออกแบบไว้ ช่วยลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ อีกทั้งประหยัดชุด PPE ได้จำนวน 10 ชุดต่อวัน ซึ่งชุด PPE นั้นมีราคาประมาณ 500 บาทต่อชุด”
ปัจจุบันทีมวิจัยได้ทำการผลิตและส่งมอบ “อารี” รถส่งของบังคับทางไกล โดยการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานเอกชนและผู้มีจิตศรัทธาให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศแล้วจำนวน 40 แห่ง และตั้งเป้าว่าจะผลิตเพื่อส่งมอบให้กับโรงพยาบาลให้ครบจำนวน 90 คัน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 2564 6500 อีเมล AREE@mtec.or.th
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.