เพื่อโลก เพื่อเรา: การประยุกต์ใช้ AIP ด้านทรัพยากรธรรมชาติ
การพัฒนาสิ่งแวดล้อมเรียกได้ว่าเป็นเรื่องของพวกเราทุกคน แต่การจะพัฒนา รักษาหรือแก้ไขได้นั้นจำเป็นจะต้องมีความเข้าใจในพื้นที่เป้าหมายก่อน ดังนั้นนอกจากการให้ข้อมูลและวิเคราะห์วางแผนแล้ว AIP ยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาธรรมชาติแวดล้อมกับความเข้าใจลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ พฤติกรรมของผู้คนในชุมชนอีกด้วย เช่น เป็นพื้นที่ทำการเกษตรหรือเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของผู้คนสังคมเมือง รวมถึงรูปแบบความสัมพันธ์และกิจกรรมอื่น ๆ ที่ดำเนินการต่อพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่
บทความที่แล้วเราได้พูดถึงความเป็นไปได้ของการใช้ AIP ในด้านความปลอดภัย ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงการสนับสนุนภารกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติกันบ้างครับ เพราะดาวเทียม THEOS-2 ไม่ได้ให้ข้อมูลได้เฉพาะพื้นที่ตัวเมืองเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงสิ่งสำคัญอย่างป่าไม้อีกด้วย ภาพจากดาวเทียมสามารถให้ภาพมุมกว้างครอบคลุมพื้นที่ทำให้เห็นได้ว่ามีผืนป่าส่วนไหนเป็นป่าประเภทใด พื้นที่เท่าไร ทำให้ระบุและเสนอแนะวิธีฟื้นฟูที่เหมาะสำหรับแต่ละพื้นที่ได้ ถือว่าการใช้ข้อมูลดาวเทียมนั้นรวดเร็ว แม่นยำ และประหยัดเวลาและงบประมาณได้ส่วนหนึ่งเลยครับ
แน่นอนว่าข้อมูลจากดาวเทียมอย่างเดียวไม่สามารถช่วยสนับสนุนการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เบ็ดเสร็จ เพราะจะแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ต้องใช้การรวบรวมข้อมูลของแต่ละพื้นที่ จากหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ส่วนใหญ่มาร่วมวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขปัญหาและเพื่อจำลองแนวทางต่าง ๆ เพื่อหาผลลัพธ์ที่เหมาะสมที่สุด ดังนั้นการใช้ AIP สำหรับการสร้างนโยบาย จะทำให้เกิดการวางแผนที่ครอบคลุมภาพรวมและความสมดุลในการพัฒนาทุก ๆ ด้าน ไม่ให้กระทบหรือขัดขวางการพัฒนาด้านอื่น ๆ เช่น ด้านการเกษตร ด้านภัยพิบัติหรือด้านการจัดการน้ำแบบองค์รวม เพื่อประสิทธิภาพและความยั่งยืนของแผนงานอีกด้วย
อย่างพื้นที่จังหวัดน่านที่รัฐบาลมีเป้าหมายในการฟื้นฟูป่าไปพร้อมกับแก้ปัญหาที่ดินทำเกษตรของคนในพื้นที่ มีความพยายามสร้างความเข้าใจของคนในชุมชนกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ให้เข้าใจสถานการณ์ตรงกันเพื่อให้แนวทางการฟื้นฟูทั้งทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพชีวิตของคนในท้องที่เป็นไปอย่างราบรื่นและตรงจุดกับปัญหาในพื้นที่อีกด้วย
ตัวอย่างเช่น การทำแบบจำลองทางภูมิสารสนเทศของแผนการฟื้นฟูป่าไปพร้อมกับแก้ปัญหาที่ดินทำเกษตรของคนในพื้นที่ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ได้เข้าใจสถานการณ์ตรงกันว่าการฟื้นฟูป่าสามารถทำไปพร้อม ๆ กับการสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้กับคนในชุมชนได้ด้วยโดยใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศซึ่งสามารถนำมาวิเคราะห์จัดสรรปันส่วนพื้นที่ทำการเกษตรได้โดยไม่รบกวนผืนป่า เท่านี้แนวทางการฟื้นฟูทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของคนในท้องที่ก็จะเป็นไปอย่างราบรื่นและตรงจุดกับปัญหาในพื้นที่อีกด้วยครับ
พื้นที่แต่ละแห่งมีลักษณะที่แตกต่างกันไม่มากก็น้อย การใช้ AIP และภูมิสารสนเทศสนับสนุนการพัฒนาด้านธรรมชาติแวดล้อมจะทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องมากขึ้น เมื่อนำมาวิเคราะห์หาแผนการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติหลายรูปแบบจะทำให้เห็นภาพของผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวทำให้สามารถเลือกมาตรการที่เหมาะสมที่สุดสำหรับพื้นที่เพื่อให้มีความยั่งยืนในทุก ๆ ด้านอีกด้วย
ที่มา : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.)
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.