AIP ในจังหวัดน่าน: สนับสนุนการสร้างสมดุลระหว่างทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพชีวิตผู้คน
คำว่า ‘เขาหัวโล้น’ นั้นดูจะเป็นคำที่อยู่คู่กับภูเขาหลาย ๆ ลูกในประเทศไทย หนึ่งในนั้นคือพื้นที่ป่าต้นน้ำในจังหวัดน่านซึ่งประสบปัญหานี้เป็นระยะเวลานาน เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อนทำให้ไม่สามารถแก้ไขได้ในเวลาอันสั้น GISTDA จึงได้นำ AIP นวัตกรรมเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศไปสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผนและแนวทางดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาเขาหัวโล้นในจังหวัดนี้ครับ
จังหวัดน่าน เป็นจังหวัดที่มีประเภทป่าที่หลากหลาย ตั้งแต่ป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และอีกมากมาย ผืนป่าส่วนใหญ่จึงจัดอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ นอกจากนั้นยังมีความสำคัญอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อมเพราะพื้นที่ป่าในจังหวัดน่านเป็นป่าต้นน้ำนั่นเอง
ป่าต้นน้ำในที่นี้ หมายถึงป่าที่อยู่ในบริเวณต้นน้ำ ซึ่งการมีอยู่ของป่าจะช่วยหล่อเลี้ยงระบบนิเวศต่าง ๆ ที่สำคัญ กักเก็บน้ำฝนตามธรรมชาติ สร้างแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ควบคุมการพังทลายของหน้าดิน สร้างป่าเพื่อต่อสู้กับสภาวะโลกร้อน ถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าและสำคัญเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ป่าต้นน้ำจังหวัดน่านได้มีผู้คนเข้าไปยังพื้นที่เพื่อการทำกินหาเลี้ยงชีวิตและครอบครัว จนเกิดการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์เป็นเขาหัวโล้นซึ่งเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อนและเรื้อรังมานาน GISTDA จึงได้นำ AIP เข้าไปเพื่อให้เห็นสถานการณ์อย่างเป็นรูปธรรมสำหรับการวางแผนแก้ไขต่อไป
การทำงานในพื้นที่จังหวัดน่านด้วย AIP นั้น GISTDA ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานในจังหวัดน่านเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและร่วมกันวางแผนการทำงานในขั้นตอนต่าง ๆ ของหน่วยงานที่มีภารกิจในการดูแลพื้นที่ป่าไม้ของจังหวัดน่าน โดยใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศประเมินความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ชี้เป้าพื้นที่ป่าที่สูญเสียไป เมื่อพบพื้นที่เป้าหมายแล้วจึงทดลองจัดสรรพื้นที่ใหม่เพื่อให้ผู้คนยังมีพื้นที่สำหรับทำกินเพื่อการดำรงชีวิต โดยรวบรวมผลทดสอบนี้ไว้ใน AIP Dashboard เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเช่น กรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศูนย์ป่าไม้จังหวัดน่าน ร่วมกันวิเคราะห์เพื่อร่วมกันหาข้อสรุปและแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำต่อไป
นอกจากนี้ AIP ยังให้ผลวิเคราะห์ถึงเรื่องพืชบางชนิดที่ให้ผลผลิตดี และเป็นมิตรต่อระบบนิเวศ ให้แนวทางเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการเพาะปลูกของผู้คนในพื้นที่ สามารถปลูกทำกินร่วมกับป่าได้อย่างเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่
ไม่ใช่ว่าการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศอย่าง AIP มาใช้จะทำให้แก้ไขปัญหาได้ในทันที แต่สิ่งที่สำคัญคือการทำให้ผู้คนในพื้นที่เข้าถึงข้อมูลที่แม่นยำและเห็นภาพของปัญหาตรงกันซึ่งจะนำมาสู่ความร่วมมือในการหาแนวทางแก้ไขที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสำเร็จในแผนพัฒนาพื้นที่เท่านั้น อีกส่วนสำคัญคือความทุ่มเททำงานของเจ้าหน้าที่ทุกคนในหน่วยงานที่ร่วมทำพูดคุย หาแนวทาง และลงมือแก้ไขปัญหาครับ โดย GISTDA ยืนยันว่าจะใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่สนับสนุนในส่วนที่เราสามารถช่วยเหลือได้อย่างสุดความสามารถเพื่อให้แผนฟื้นฟูป่าต้นน้ำและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวน่านดำเนินไปด้วยกันอย่างยั่งยืนครับ
แฟนเพจทุกคนสามารถติดตามเรื่องราวของ AIP ได้ต่อไปในซีรี่ส์ Space Update ทุกวันพฤหัสบดีเว้นพฤหัสบดีจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าเลยครับ
Source:
ความหลากหลายทางชีวภาพ. สำนักความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (n.d.). Retrieved October 18, 2022, from http://chmthai.onep.go.th/.../infor.../forest_Ecosystem.html
SETSocialImpact. (n.d.). ป่าต้นน้ำ. SETSocialImpact. Retrieved October 18, 2022, from https://www.setsocialimpact.com/Article/Detail/61455
ที่มา : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.)
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.