ประโยชน์ของการยกระดับ AIP สู่พื้นที่ทั่วประเทศ
แฟนเพจทุกท่านคงได้เห็นการใช้งาน AIP กันบ้างแล้วในโครงการ EEC และพื้นที่ทดลองจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นโครงการที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ AIP ในการจัดการและหาทางออกให้กับประเด็นต่าง ๆ ในพื้นที่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพที่มาพร้อมกับความยั่งยืน เพราะอย่างนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะขยายพื้นที่การใช้งาน AIP ให้ครอบคลุมมากขึ้น
การยกระดับการใช้งาน AIP ไปสู่พื้นที่อื่นจะทำให้เห็นลักษณะเฉพาะของพื้นที่ที่กว้างและหลากหลายขึ้น เพราะมีการรวบรวมข้อมูลของจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศทั้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจากเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ทั้งจากภาพถ่ายดาวเทียมและเครื่องมือตรวจวัดภาคพื้นดิน
ทำให้สามารถสร้างตัวเลือกนโยบายแบบเฉพาะเจาะจง (customize policy recommendation) ได้ในระดับจังหวัด เพราะภูมิประเทศและปัจจัยต่าง ๆ ในแต่ละจังหวัดย่อมมีความแตกต่างกันออกไป หากแต่ละพื้นที่ได้มีนโยบายที่วิเคราะห์ขึ้นจากเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัดแล้ว การแก้ไขปัญหาและการพัฒนาจะเป็นไปได้อย่างเหมาะสมและมีความทั่วถึงในระดับประเทศ
อย่างในกรณี EEC (Eastern Economic Corridor) ที่มีการใช้ AIP ในการทดสอบนโยบายการจัดการน้ำเพื่อให้มีเพียงพอต่อความต้องการในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรมและภาคครัวเรือนก็สามารถนำมาใช้กับพื้นที่อื่น ๆ ได้ทั่วประเทศโดยวิเคราะห์แหล่งน้ำต้นทุนของแต่ละพื้นที่เพื่อวางนโยบายและคาดการณ์สถานการณ์ในอนาคตอย่างเฉพาะเจาะจงตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศที่มีปริมาณน้ำต้นทุนต่างกัน
หรือกรณีของพื้นที่จังหวัดน่านที่มีการจัดสรรที่ดินส่วนที่สามารถใช้ทำกินให้พร้อมกับผลวิเคราะห์ถึงเรื่องพืชที่เป็นมิตรต่อระบบนิเวศและให้ผลผลิตเพื่อให้ทำการเกษตรได้อย่างเป็นมิตรกับพื้นที่ก็สามารถขยายผลไปยังพื้นที่การเกษตรทั่วประเทศ ทั้งการจัดสรรพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูกและวิเคราะห์พื้นที่กับแหล่งน้ำในบริเวณนั้น ๆ ว่าเหมาะสมต่อการปลูกพืชชนิดใดในช่วงฤดูไหนเพื่อเกษตรกรจะได้มีรายได้สม่ำเสมอโดยไม่ส่งผลกระทบถึงความอุดมสมบูรณ์ของดินหรือเกิดภาวะแล้งเพราะปลูกพืชที่จำเป็นต้องใช้น้ำเยอะตลอดปี
GISTDA คาดหวังว่าการขยาย AIP สู่นโยบายระดับประเทศ นั้นจะช่วยทำให้การออกแบบแนวทางแก้ไขปัญหาที่รวดเร็วแม่นยำและแนวทางการพัฒนาเป็นไปได้อย่างครอบคลุมมากขึ้นและทั่วถึงอย่างเท่าเทียมต่อพี่น้องประชาชนในประเทศไทยทุกท่าน
ที่มา : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.)
https://www.facebook.com/gistda
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.