หลอดจากธรรมชาติ
พลาสติกเป็นวัสดุที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งในทางการแพทย์ อุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์รวมไปถึงเป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร จึงไม่อาจปฏิเสธการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันได้แต่สามารถที่จะปฏิเสธพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เพราะพลาสติกประเภทนี้อายุการใช้งานสั้นแต่ระยะเวลาในการย่อยสลายนาน
นอกจากนี้ United Nations Environment Programme คาดการณ์ว่า ประมาณปี พ.ศ. 2593 จะมีขยะพลาสติกทั่วโลกจำนวน 12,000 ล้านตันที่ถูกฝั่งกลบอยู่ตามธรรมชาติและในทะเล สหภาพยุโรปหรือ EU ได้เดินหน้ายกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastic) มีผลบังคับใช้ในประเทศสมาชิกภายใน ปีพ.ศ. 2564 มีเป้าหมายลดขยะพลาสติก 10 ประเภท ได้แก่ หลอด พลาสติก ก้านสำลี ก้านลูกโป่ง อุปกรณ์รับประทานอาหารพลาสติก กล่องโฟม และพลาสติกที่มีส่วนผสมของสารประเภทอ๊อกโซ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีมาตรการเพิ่มความรับผิดชอบของผู้ผลิตเกี่ยวกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการรีไซเคิล บรรจุภัณฑ์หลังการใช้ให้ได้ 90% ภายในปีพ.ศ. 2568 ประเทศไทย โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมได้เสนอ (ร่าง) การจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ.2561-2573) ให้ ครม.รับทราบ มีเป้าหมายลดและเลิกใช้พลาสติก 7 ชนิด โดยในปีพ.ศ. 2562 จะเลิกใช้พลาสติก 3 ประเภท ได้แก่ พลาสติกหุ้มฝาน้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของสารประเภทอ๊อกโซ และ ไมโครบีดจากพลาสติก และปีพ.ศ. 2565 จะเลิกใช้พลาสติก 4 ประเภท โดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้วความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก และหลอดพลาสติก ส่วนในปีพ.ศ. 2570 มีเป้าหมายนำขยะผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ตัวอย่างหลอดจากธรรมชาติได้แก่
1. หลอดจากก้านผักบุ้ง การนำก้านผักบุ้งมาใช้เป็นหลอดนั้น ต้องนำก้านผักบุ้งมาทำความสะอาดด้วยการแช่ในน้ำที่ผสมด้วยเบกกิ้งโซดา เวลาประมาณ 15 นาทีแล้วนำไปล้างน้ำสะอาดอีก 3 ครั้ง จึงนำก้านผักบุ้งมาใช้เป็นหลอด โดยมีอายุการใช้งานแค่ครั้งเดียว ระยะเวลาการย่อยสลายประมาณ 3-5 วัน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ADVERTISEMENT
2. หลอดจากตะไคร้ ลักษณะของต้นตะไคร้ที่มีความยาวตลอดต้น เปลือกแข็ง จึงสามารถนำตะไคร้มาใช้เป็นหลอดได้อย่างสะดวก อย่าง โรงแรมบ้านท้องทรายบนเกาะสมุยที่หันมาใช้หลอดจากตะไคร้แทนการใช้หลอดพลาสติก และหลังจากการใช้ก็สามารถนำมาทิ้งรวมกับขยะสดประเภทอื่น
3. หลอดจากซังข้าว เป็นการใช้ผลผลิตเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์การใช้ซังข้าวมาเป็นหลอดนั้น มีตัวอย่างให้ดูกันที่ชุมชนเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา ซึ่งผู้คนในเกาะส่วนใหญ่ปลูกข้าวไว้ทานเอง ซังข้าว หรือต้นข้าวจึงหาได้ไม่ยาก
4. หลอดจากไม้ไผ่ ไผ่มีรูปทรงของลำต้นเป็นทรงกระบอก ข้างในกลวง และมีความแข็งแรง เหมาะสมที่มาทำเป็นหลอด ซึ่งหลอดจากไม้ไผ่ 1 หลอด สามารถใช้ได้ประมาณ 100 ครั้ง หรือจนกว่าไม้ไผ่จะแตก วิธีการดูแลรักษานั้นก็ทำได้ไม่ยาก เมื่อใช้งานเสร็จแล้วล้างให้สะอาด ด้วยแปรงล้างหลอดขนาดเล็ก และต้มในน้ำผสมน้ำส้มสายชู เพื่อให้หลอดคงความขาวสะอาดน่าใช้ต่อไป
ที่มา : https://www.facebook.com/MHESIThailand
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.