“อว. ทำอะไรเพื่อคนไทยบ้าง”
ภารกิจที่ 7 งานวิจัย เร่งด่วน ตรงเป้า
ภายใต้สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 หน่วยงานวิจัยสังกัดกระทรวง อว. แต่ละหน่วยงานต่างมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้เพื่อให้การรับมือกับสถานการณ์เป็นไปอย่างทั่วถึงและทันท่วงที โดยหัวใจสำคัญที่สุดของงานวิจัยคือ ‘ต้องมีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้ และตอบสนองการใช้ประโยชน์’ ดังนั้นงานวิจัยต่าง ๆ ที่แต่ละหน่วยงานได้รับโจทย์ไปในช่วงการระบาดของโควิด-19 จึงต้องจัดการอย่างเร่งด่วนภายใต้ระยะเวลาอันจำกัด
เริ่มต้นตั้งแต่หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย อย่าง ‘สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)’ ได้ศึกษาผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายที่เป็นประโยชน์ ต่อด้วย ‘สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)’ ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลและควบคุมกรอบงบประมาณการวิจัยในภาพรวมของประเทศ เพื่อให้กลไกการจัดสรรงบประมาณการวิจัยไปยังหน่วยให้ทุนวิจัยเป็นไปอย่างราบรื่น ไร้รอยต่อ ขณะที่ ‘สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)’ ที่เป็นหน่วยสนับสนุนทุนวิจัยโดยตรงก็ถือได้ว่าเป็นเบื้องหลังความสำเร็จของงานวิจัยจำนวนมากที่ใช้ต่อสู้กับวิกฤติโควิด-19 จากบทบาทของการสนับสนุนทุนวิจัยอย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างดียิ่ง
นอกจากนี้ ในด้านของหน่วยงานปฏิบัติการวิจัยในประเทศไทยต่างก็เดินหน้าทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ ไม่ว่าจะเป็น ‘ศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล’ ที่ทำหน้าที่ศึกษาด้านระบาดวิทยาและสร้างความเข้าใจกับประชาชน รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนออกไปฉีดวัคซีน ทำให้การต่อสู้กับโรคโควิด-19 ในช่วงแรกมีผลสัมฤทธิ์เป็นที่น่าพอใจ ‘สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)’ ที่เดินหน้าพัฒนาอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ทั้งชุด PPE หมวกแรงดันบวก หมวกแรงดันลบ และแอปพลิเคชันระบบติดตามและประเมินผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 รวมถึง ‘สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)’ ที่มีส่วนสำคัญในการทำวิจัยเชิงลึกผ่านการพัฒนาน้ำยาฆ่าเชื้อโรคและห้องความดันลบ
ในส่วนของ ‘สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)’ ได้ศึกษาผลกระทบของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้ได้ข้อสรุปและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อการออกมาตรการควบคุมการระบาดต่าง ๆ ของรัฐบาลให้เป็นไปอย่างสมดุล ปิดท้ายด้วยงานวิจัยที่ถือเป็นความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขของประเทศในระยะยาวอย่าง ‘โครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ ที่ทำการวิจัย ‘Chula-Cov19’ วัคซีนป้องกันโควิด-19 สัญชาติไทยซึ่งจะสามารถต่อยอดไปสู่การเป็นศูนย์ผลิตวัคซีนแบบครบวงจรต่อไปในอนาคต
—————————
สำหรับผู้ที่สนใจอ่านชุดหนังสือ ‘เพราะเธอเป็นลมหายใจ’ เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าและถอดบทเรียนการทำงานและความร่วมมือของชาว อว. เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้ก้าวผ่านวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สามารถคลิกอ่านได้ที่ https://bit.ly/MHESIagainstCOVID19
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.