เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมเนื่องในโอกาสครบรอบ 61 ปี การดำเนินงานสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) พิธีลงนามความร่วมมือ Development of Thai ATMP industry for cell therapy into an international medical hub กับเครือข่ายพันธมิตร ได้แก่ บริษัท โรงพยาบาลกล้วยน้ำไทย จำกัด 3 AGEMBIO PTE LTD ,สิงค์โปร และบริษัท วีก้า เวลเนส จำกัด และพิธีเปิดอาคาร 60 ปี วว. ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีประยุกต์สู่ SMEs ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ผู้ประกอบการเข้าใช้บริการจะได้รับสิทธิประโยชน์มาตรการทางภาษีและมาตรการส่งเสริมการลงทุน โดยมี น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว. ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด อว. เข้าร่วม ณ วว. เทคโนธานี คลองห้า จ.ปทุมธานี
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า วว. เป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งมาเป็นระยะเวลายาวนาน และเป็นหน่วยงานหลักของกระทรวง อว. ในการสร้างความเจริญให้ประเทศ บัดนี้ครบรอบการดำเนินงานปีที่ 61 จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งองค์กร ท่านผู้บริหารในยุคแรกได้วางหลักการ เป้าหมาย แนวทางการบริหารจัดการองค์กรไว้อย่างชัดเจน โดยมุ่งเน้นการใช้ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ เพื่อแก้ปัญหาของประเทศ ขณะนี้ กระทรวง อว. ถือเป็นหนึ่งในกระทรวงที่สำคัญของรัฐบาล และ วว. ถือเป็นองค์กรหลัก ที่เป็นหนึ่งแรงสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม หนึ่งในประเด็นยุทธศาสตร์ของ วว. คือ การให้ความสำคัญกับการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสุขภาพ เพื่อตอบโจทย์การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจ ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และธุรกิจ Wellness & Longevity ที่กำลังเติบโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่องในประเทศ
"ขอสนับสนุนให้ วว. ส่งเสริมผู้ประกอบการอย่างเต็มที่ เพื่อทำให้เกิดธุรกิจดังกล่าวได้อย่างครบวงจร จากการที่ วว. มีความพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐานและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของบุคลากรที่มีศักยภาพ และสามารถดำเนินการวิจัยแบบบูรณาการ และสหศาสตร์วิชาเพื่อให้ครอบคลุมงานวิจัย ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งทำให้เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า คณะผู้บริหารและทีมบุคลากรจะใช้ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ช่วยขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการสร้างความฝันของผู้ประกอบการให้เป็นจริง สร้างให้เกิดสตาร์ทอัพใหม่ รวมทั้งการสนับสนุนนิสิต นักศึกษาในมหาวิทยาลัยให้เกิดผู้ประกอบการรุ่นใหม่" รมว.อว.กล่าว
ด้าน ดร.ชุติมา กล่าวว่า การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสุขภาพเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของธุรกิจสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน เป็นหนึ่งในเป้าหมายการวิจัยและพัฒนาของ วว. โดยมีการทำงานอย่างครบวงจรเพื่อมุ่งเน้นนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์แก่กลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา การให้บริการวิเคราะห์ทดสอบด้วยห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากล ผลิตผลิตภัณฑ์ผ่านโครงสร้างพื้นฐานโรงงานต้นแบบที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากการลงทุนภาครัฐ เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการในช่วงเริ่มต้นของการทำธุรกิจ ตลอดจนการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญ โดยสาขาความเชี่ยวชาญของ วว. ที่รองรับความต้องการในการวิจัยและพัฒนาและให้บริการสำหรับธุรกิจ Wellness & Longevity และธุรกิจท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ได้แก่ (1) ความเชี่ยวชาญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดสมุนไพรและส่วนประกอบอาหารฟังก์ชัน/ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (2) ความเชี่ยวชาญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และเวชสำอางจากสมุนไพร (3) ความเชี่ยวชาญการใช้ประโยชน์จากกลุ่มจุลินทรีย์ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการ (4) ความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารแห่งอนาคต ทั้งโปรตีนทางเลือก อาหารฟังก์ชั่น และอาหาร FODMAPs นอกจากนั้น วว. ยังมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง ชนิดเซลล์บำบัด ซึ่งนำ Stem cell หรือองค์ประกอบของเซลล์มาช่วยฟื้นฟูความแข็งแรง กระตุ้นการซ่อมแซมและเติบโตให้แก่เซลล์ในร่างกาย พร้อมทั้งให้บริการวิเคราะห์ทดสอบการแตกหักของดีเอ็นเอ ของ Mesenchymal stem cells ด้วย Comet Assay ด้วย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.