วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ณ กระทรวงคมนาคม / ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) ให้เกียรติเป็นสักขีพยานและกล่าวแสดงความยินดีในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “พันธมิตรสร้างสรรค์อุตสาหกรรมระบบรางไทย” ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับกระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางราง (ขร.) พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตรระบบรางภาครัฐ/สถาบันการศึกษา 13 หน่วยงาน ประกอบด้วย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามอย่างเป็นทางการ เพื่อบูรณาการความร่วมมือครอบคลุมด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี วิจัยและพัฒนา มาตรฐานระบบราง อุตสาหกรรมระบบราง ทดสอบและการทดลอง พัฒนาทรัพยากรบุคคล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพระบบขนส่งทางรางและความปลอดภัยในการให้บริการเดินรถไฟ ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ระบบรางให้เป็นไปตามมาตรฐานระบบรางของประเทศและมาตรฐานสากล ช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการทดสอบวิเคราะห์ด้านระบบราง สนับสนุนการผลิตชิ้นส่วนในประเทศ (Local Content) ทดแทนการนำเข้า สนับสนุนการผลิตบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญวิจัยด้านระบบราง ตลอดจนวิจัยและพัฒนาแก้โจทย์ปัญหาด้านระบบรางของประเทศ สร้างความยั่งยืนให้ระบบรางของไทย ทั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจากนายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ด้วย
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อว. กล่าวว่า อว. ให้ความสำคัญกับนโยบายสร้างคน สร้างองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรมด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์ประเทศ โดย อว. พร้อมนำองค์ความรู้สนับสนุนงานในอุตสาหกรรมรางไทยให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเทคโนโลยีด้านระบบราง ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีต่างชาติ ดังนั้นการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาช่วยเสริมความแข็งแกร่ง จะเป็นการต่อยอดให้เกิดอุตสาหกรรมรางในประเทศไทยขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้ จำเป็นต้องเร่งผลักดันให้เกิดการผลิตชิ้นส่วนระบบราง หรือ local content ซึ่งให้สัมฤทธิ์ผลต้องอาศัยการร่วมทำงานแบบสอดประสานโดยมีเป้าหมายร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน รวมทั้งประชาสังคมในชุมชนที่เกี่ยวข้องมีลักษณะแบบสี่ประสาน (Quadruple Helix) โดยอาศัยการประสานจุดแข็งของหน่วยงานแต่ละประเภท อาทิ องค์ความรู้ต่อยอดการวิจัยพัฒนา (research & development) และการพัฒนาทักษะกำลังคน (manpower skill) ของภาคการศึกษา ความพร้อมในการสนับสนุนทางโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพทางระบบราง (National Quality Infrastructure: NQI) และการแบ่งปันทรัพยากร (infrastructure sharing) ของหน่วยงานรัฐ พื้นฐานที่แข็งแกร่งและความพร้อมในการลงทุนและการผลิตของหน่วยเอกชน รวมถึงการมีส่วนร่วมในการสนับสนุนของชุมชนในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการใช้บริการรถไฟ
นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จากแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) กำหนดเป้าหมายการพัฒนาระยะยาวให้มีความยั่งยืน และมั่นคง รวมทั้งการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และเสริมศักยภาพคนให้มีคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในขณะที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมขนส่งของไทยตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี เน้นการเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งทั้งในประเทศและในภูมิภาค เพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคง การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทำให้อุตสาหกรรมรางในประเทศและในภูมิภาคขยายตัวอย่างรวดเร็ว ระบบรางของประเทศจะยั่งยืนได้นั้นต้องอาศัยรากฐานของอุตสาหกรรมรางในประเทศที่เข้มแข็ง ในขณะที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรางไทยยังมีน้อยรายและมีความสามารถในการแข่งขันในระดับต่ำ นโยบายส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วนระบบรางในประเทศ (local content) ในสัดส่วนที่เหมาะสมต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมรางในประเทศอย่างยั่งยืนจึงเป็นปัจจัยแรกเริ่มที่สำคัญต่อความมั่นคงของระบบรางไทยในอนาคต
จากรายงานการศึกษาแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมรางระยะที่ 2 พบว่า การใช้ local content ในประเทศในสัดส่วน 40% สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศได้มากกว่า 7,000 ล้านบาท การประกอบรถไฟขั้นสุดท้ายในประเทศสามารถทำให้ซื้อรถไฟในราคาถูกลงมากกว่า 2,800 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานมากกว่า 2,000 ล้านบาท และยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ด้านระบบราง ในระยะยาว local content จะส่งผลอย่างสำคัญต่อการลดภาระประเทศในการพึ่งพาหรือนำเข้าเทคโนโลยีต่างชาติในช่วงเดินรถและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) ในระยะยาว ซึ่งภาระค่า O&M มักสูงกว่ามูลค่าการก่อสร้างเริ่มต้นหลายเท่าตัว เช่น การส่งเสริมการบำรุงรักษารถไฟได้เองในประเทศจะสามารถลดภาระจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศได้ไม่น้อยกว่า 1,700 ล้านบาทต่อปี เป็นต้น
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า จากความสำคัญดังกล่าว สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จึงร่วมกับ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานรวมทั้งสิ้น 15 หน่วยงาน ร่วมแสดงพลังในการเป็นพันธมิตรสนับสนุนนโยบาย local content ระบบราง โดยหน่วยงานภาครัฐร่วมกันส่งเสริมภาคเอกชนทั้งด้านมาตรฐาน ข้อบังคับ การทดสอบ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และส่งเสริมการผลิตบุคลากรสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมระบบราง ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการส่งเสริมการผลิต local content ระบบราง ผ่านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือแบบ 4 ฝ่าย (Quadruple Helix) ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และประชาสังคม การร่วมมือกันของหน่วยงานภาครัฐในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือแบบ 4 ฝ่าย ในระยะต่อไปขยายผลสร้างผลกระทบต่อเนื่องให้แก่อุตสาหกรรมรางในประเทศให้ก้าวไปสู่การเป็นฐานการผลิตรถไฟในภูมิภาคที่มีศักยภาพสูงสามารถผลิตชิ้นส่วนระบบรางทดแทนลดการนำเข้ารถไฟได้ทุกระบบรวมทั้งเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงในอนาคต
“ความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางของประเทศ โดยทั้งสิบห้าหน่วยงาน มีเจตนารมณ์ร่วมกัน ที่จะร่วมมือทางวิชาการ จัดทำมาตรฐาน พัฒนาความสามารถห้องปฏิบัติการในประเทศ สนับสนุน ส่งเสริมผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ พัฒนาบุคลากร รวมไปถึงการพัฒนาด้านการวิจัย และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทางด้านระบบรางของประเทศ ผลักดันการพัฒนาทางด้านระบบรางของประเทศประสบความสำเร็จต่อไป” ผู้ว่าการ วว. สรุปในตอนท้าย
ข้อมูลโดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
ข่าว : นางสาวพจนพร แสงสว่าง
ภาพ : นายภูมินทร์ ปั้นเล็ก
วีดีโอ : นายสุเมธ บุญเอื้อ
ส่วนสื่อสารองค์กร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทร. 02 333 3727 – 3732 โทรสาร 02 333 3834
E-Mail: pr@mhesi.go.th Facebook: MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.