เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ ดร.อาภากร สุปัญญา รองผู้ว่าการกลุ่มยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มปริมาณและผลผลิตมะม่วงนอกฤดู ที่กลุ่มสหกรณ์ผู้ปลูกมะม่วงนอกฤดูกุดหมากไฟ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีสมาชิก 150 สวน รวมพื้นที่ในการเพาะปลูกจำนวน 22,000 ไร่ ณ จังหวัดอุดรธานี
ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า เทคโนโลยีฯ ดังกล่าว วิจัยและพัฒนา โดย ศูนย์เชี่ยวชาญเกษตรสร้างสรรค์ วว. สามารถช่วยให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้นกว่าเดิม 1 - 2 เท่า ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนสำคัญ คือ
1. การเพิ่มจำนวนยอดอ่อน ด้วยการฉีดพ่นสารทางใบด้วยสารผสมของเอพีฟอนกับไทโอยูเรียหลังการตัดแต่งกิ่ง ซึ่งวิธีเดิมจะใช้ไทโอยูเรียเพียงอย่างเดียว แต่การผสมเอทีฟอนลงไปจะช่วยให้เกิดยอดอ่อนได้ง่ายและเพิ่มยอดได้ 40 - 70% เมื่อยอดมากขึ้นจำนวนตาดอกก็เพิ่มมากขึ้นด้วย
2. การเพิ่มจำนวนการออกดอก โดยการฉีดพ่นสารทางใบด้วยเมพิควอทคลอไรต์ในช่วงการบำรุงต้น วิธีการดังกล่าวจะช่วยเสริมประสิทธิภาพของสารพาโคลบิวทาโซลที่ราดทางดิน ซึ่งเมื่อใช้ร่วมกันจะมีจำนวนการออกดอกเพิ่มขึ้น 40 - 60% ในช่วงฝนน้อยหรือช่วงที่เกิดภาวะเอลนินโญ่ แต่จะช่วยเพิ่มดอกได้มากขึ้น 100 - 300% หากใช้วิธีดังกล่าวในช่วงฝนชุกหรือลานีญ่าที่มีฝนตกมากกว่าปกติ หรือเกษตรกรที่ทำการผลิตในพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่ดินร่วนปนทรายที่มีหินปนในเขตใกล้กับภูเขา สาร paclobutrazol ที่ราดทางดินจะถูกชะล้างให้ลงไปลึกกว่าระบบรากมะม่วงได้ง่ายเมื่อมีฝนตกชุก ทำให้การทำมะม่วงนอกฤดูล้มเหลว ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยการฉีดพ่นสาร paclobutrazol ทางใบร่วมกับเมิคควอทคลอไรต์ มะม่วงก็จะออกดอกได้มากขึ้น
3.การเพิ่มการติดผลของมะม่วง โดยการฉีดพ่นสารทางใบด้วยส่วนผสมของน้ำตาลและนมผง วิธีนี้อาจช่วยทำให้พืชได้รับสารที่จำเป็นสำหรับกระบวนการผสมเกสรและลดการหลุดร่วงของผล โดยพบว่า การฉีดพ่นสารทางใบฯ จำนวน 3-4 ครั้ง ก่อนกระตุ้นการเจริญของตาดอก จะช่วยเพิ่มการติดผลและลดการหลุดร่วงของผล ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมากของการผลิตมะม่วง ทั้งนี้จากการทดลองพบว่าสามารถเพิ่มการติดผลของมะม่วงได้มากกว่า 1 - 3 เท่า และเมื่อติดผลแล้วฉีดพ่นต่อไปจะทำให้ผลมีขนาดโตและสมบูรณ์ขึ้น และในการทำดอกครั้งต่อไปมะม่วงจะสมบูรณ์และสามารถติดผลได้ดีทุกรอบของการผลิต
“…มะม่วงจะมีราคาสูงในช่วงนอกฤดูกาลผลิต โดยมะม่วงน้ำดอกไม้นอกฤดูจะมีราคาขายจากสวนที่กิโลกรัมละเประมาณ 100 บาทหรือมากกว่า และมีราคาขายปลีกนอกฤดูประมาณ 200 บาทต่อกิโลกรัม แต่มะม่วงจะมีราคาถูกมากในช่วงฤดูปกติ เนื่องจากมีผลผลิตจำนวนมาก ปัจจุบันจึงนิยมทำผลผลิตนอกฤดูกาล แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความล้มเหลวหรือทำนอกฤดูกาลไม่ได้คือ ฝนที่ตกชุก เมื่อมีฝนมาก มะม่วงได้รับน้ำมากก็จะได้รับไนโตรเจนจากดิน ซึ่งจะทำให้ออกดอกน้อยหรือเมื่อเปิดตาดอกแล้วจะได้เป็นใบอ่อน ปัจจัยนี้ทำให้มีมะม่วงนอกฤดูน้อยมากและราคาสูง แต่ผลผลิตจะราคาต่ำมากในฤดูมะม่วงปกติ เพราะมะม่วงที่ทำนอกฤดูกาลไว้จะออกดอกได้ดีเมื่อหมดฝน ทำให้ออกดอกพร้อมกันเกือบทั้งประเทศ ราคาในฤดูจึงตกต่ำมาก ทั้งนี้หากเกษตรกรนำเทคโนโลยีของ วว.ไปใช้อย่างแพร่หลาย จะช่วยเพิ่มผลผลิตมะม่วงและสร้างรายได้ที่มั่นคง สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน …” ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. (ดร.กุศล เอี่ยมทรัพย์) โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 อีเมล tistr@tistr.or.thLine@TISTR
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.