24 กุมภาพันธ์ 2563 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้รับเกียรติจาก นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ผช.ปอว.) เป็นประธานในการเปิดการสัมมนาเชิงวิชาการ เรื่อง “การจัดการขยะและบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วในหน่วยงาน” ณ ห้องเมแฟร์ บอลรูม ซี ชั้น 11 โรงแรมเดอะเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ
นาวสาวสุณีย์ (ผช.ปอว.) กล่าวว่า “ในช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการนำพลาสติกและโฟมมาใช้มากขึ้นในรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ต่างๆ จากสถิติพบว่า ปี 2560 มีการใช้พลาสติกหูหิ้ว จำนวน 45,000 ล้านใบต่อปี โฟมบรรจุอาหาร จำนวน 6,758 ล้านใบต่อปี แก้วพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง จำนวน 9,750 ล้านใบต่อปี รวมปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศประมาณ 27.40 ล้านตันต่อปี ซึ่งพลาสติกและขยะมูลฝอยเหล่านี้เป็นวัสดุที่ย่อยสลายยาก เมื่อไม่ได้รับการจัดการที่ถูกต้องภายหลังใช้งาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง กระทรวง อว. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากขยะพลาสติกและขยะมูลฝอยต่างๆ ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น เพื่อเป็นการดำเนินการตามมาตรการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานและเสริมสรา้งความรู้ความเข้าใจและจิตสำนึกให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดของ อว. เกิดความตระหนัก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดและคัดแยกขยะมูลฝอยได้ถูกต้องจนกลายเป็นพฤติกรรมที่ดีอย่างต่อเนื่อง จึงได้จัดให้มีการสัมมนาดังกล่าวขึ้น ได้รับเกียรติโดยวิทยากรจาก สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาบรรยายให้ความรู้กับบุคลากรในสังกัด อว.”
นายสินชัย เทียนศิริ ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “เราจะเข้าไปให้ความรู้เรื่องของการจัดการบรรจุภัณฑ์ ถ้าบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วได้รับจัดการอย่างถูกวิธีเราจะไม่เหลือคำว่าขยะ บรรจุภัณฑ์มีหน้าที่เป็นภาชนะในการถนอมสินค้าและขนส่งให้กับผู้อุปโภคบริโภค เพื่อให้เรามั่นใจได้ว่าสินค้าได้รับการปกป้องไม่ให้เกิดความเสียหายหรือเกิดการปนเปื้อน อีกทั้งตัวบรรจุภัณฑ์เองยังเป็นตัวช่วยในการเลือกซื้อสินค้า โดยสังเกตจากสีหรือรูปลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์ แต่ในความเป็นจริงเราสนใจแต่เพียงสินค้าที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์เท่านั้น บรรจุภัณฑ์เหล่านั้นถูกทิ้งให้เป็นขยะมากมายมหาศาล เนื่องจากไม่ได้รับการจัดการอย่างเป็นระบบ การจัดการขยะให้เป็นระบบไม่ใช่การห้ามอุปโภคบริโภค แต่เป็นการเลือกที่จะใช้และจัดการหลังการใช้แล้ว ขยะที่จัดการไม่ได้มีอยู่ 2 ประเภท คือขยะอันตรายและขยะติดเชื้อ ต้องมีระบบการจัดการที่ถูกวิธี แต่ขยะนอกเหนือจาก 2 ประเภทนี้ เพียงเราเข้าใจเราก็จะสามารถจัดการขยะได้อย่างถูกวิธี เรื่องของจิตสำนึกสาธารณะคือความรับผิดชอบไม่ใช่หน้าที่ที่ต้องทำ ควรเริ่มที่ตัวเราเองก่อนอย่าคิดว่านั่นไม่ใช่หน้าที่ของเราเดี๋ยวก็มีคนเข้ามารับผิดชอบในส่วนนั้น หากเราร่วมมือกันปริมาณขยะก็จะสามารถลดลงได้อย่างมาก การจัดการขยะอย่างเป็นระบบและถูกวิธีเริ่มได้ที่เราด้วยการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง การคัดแยกขยะก่อนทิ้งจะทำให้บรรจุภัณฑ์ไม่เกิดการปนเปื้อนและสามารถนำมารีไซเคิลเพื่อกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่หากเราไม่คัดแยกขยะก่อนทิ้งบรรจุภัณฑ์ต่างๆเหล่านั้นจะเกิดการปนเปื้อนและถูกปฏิเสธจากโรงงานรีไซเคิล ขยะเหล่านั้นจะถูกนำไปทิ้งที่หลุมฝังกลบจนเป็นขยะที่รอการย่อยสลายอีกหลายสิบปี ซึ่งต้องใช้งบประมาณอย่างมากในการจัดการปัญหาขยะเหล่านี้ เพียงแค่เราช่วยกันคัดแยกขยะก่อนทิ้งจะสามารถลดต้นทุน ลดเวลา ลดการนำทรัพยากรใหม่มาใช้ และยังช่วยลดงบประมาณในการกำจัดขยะ วิธีการคัดแยกขยะมีหลากหลายวิธีเพียงเราเลือกวิธีที่ถูกจริตของเรา สิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็นวิถีชีวิตในการคัดแยกอย่างถูกวิธี แล้วบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วเหล่านั้นก็จะกลับไปเป็นวัตถุดิบในการะบวนการผลิตครั้งใหม่ต่อไป”
นางกวีนา ศรีวิโรจน์ ผู้ชำนาญการเทคนิสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “เราจะทำอย่างไรให้ในองค์กรมีวิธีการจัดการขยะและบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วภายในหน่วยงานอย่างถูกวิธี การคัดแยก การนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้องตามหลักการ ขยะในประเทศไทยมากกว่า 55% ใช้วิธีการกำจัดโดยการฝังกลบ ประเทศไทยมีหลุมฝังกลบอยู่ประมาณ 2,000 แห่งทั่วประเทศ แต่มีบางหลุมฝังกลบเท่านั้นที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ คือมีการควบคุมเรื่องของมลพิษ ที่เหลือจะเป็นรูปแบบของการเทกอง ซึ่งไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธีไม่มีการควบคุมมลพิษ หลุมฝังกลบเหล่านี้จึงเป็นปัญหาในการจัดการขยะ ขยะในภายประเทศมีถึง 27 ล้านตันต่อปี ได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องเพียงบางส่วนเท่านั้น คนไทยผลิตขยะโดยเฉลี่ย 1 กิโลกรัมต่อวัน ขยะเหล่านี้แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล ขยะทั่วไปและขยะอันตราย หลักการจัดการขยะประกอบด้วย 3R Reduce Reuse Recycle
Reduce คือการใช้ให้น้อยหรือการลดการใช้ ใช้เท่าที่จำเป็น เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีอายุการใช้งานที่นานกว่า สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหรือแปรรูปได้ เช่นการใช้ถุงผ้า หรือการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
Reuse คือการนำสิ่งของที่ใช้แล้วกลับมาใช้ซ้ำอีกครั้ง หรือนำไปสร้างประโยชน์ใหม่ เช่นการนำแก้วน้ำมาล้างแล้วใช้ซ้ำ หรือการใช้กระดาษให้ครบ 2 ด้านและบริจาคเพื่อกรุอักษรเบรลล์สำหรับคนตาบอด
Recycle คือการนำกลับมาใช้ใหม่ โดยผ่านกระบวนการใดๆ ซึ่งอาจกลับมาในรูปเดิมหรือรูปแบบใหม่ เช่นการนำขวดพลาสติกมารีไซเคิลให้เป็น เสื้อ หรือบรรจุภัณฑ์ ภาชนะต่างๆ
การคัดแยกขยะยังถือเป็นอีกวิธีที่สามารถลดปริมาณขยะได้ โดยจัดตั้งภาชนะคัดแยก คือการกำหนดถังขยะในรูปแบบสีหรือประเภทต่างๆ เพื่อบ่งบอกประเภทของขยะที่จะต้องคัดแยกและจัดตั้งจุดวางถังที่เหมาะสม แต่ละจุดจะต้องวางถังขยะครบทุกประเภท สำรวจลักษณะการใช้งานและขยะที่เกิดขึ้นเพื่อกำหนดประเภทถังที่จะต้องจัดวาง นอกจากนี้การคัดแยกขยะยังสามารถคัดแยกเพื่อจำหน่ายได้ ขยะที่สามารถคัดแยกเพื่อจำหน่าย ได้แก่ กระดาษ พลาสติก แก้ว โลหะ/อลูมิเนียมจากกระป๋องหรือเศษเหล็ก การคัดแยกขยะนอกจากจะเป็นวิธีที่ช่วยในการลดปริมาณขยะแล้วยังสามารถแปรเปลี่ยนมาเป็นมูลค่าได้”
เขียนข่าวและถ่ายภาพโดย : นายจิรายุ รุจิพงษ์วาที
ส่วนสื่อสารองค์กร
กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.