เมื่อวันที่ 10 ก.ค. นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาเรื่อง การพัฒนาศักยภาพและเตรียมความพร้อมสู่การมีงานทำเพื่อนักศึกษาพิการ รุ่นที่ 2 โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงแรงงาน มูลนิธิ/องค์กรคนพิการ และสถาบันอุดมศึกษาที่มีนักศึกษาพิการศึกษาอยู่ เข้าร่วมประชุมสัมมนาเพื่อหาแนวทางในการส่งเสริม สนับสนุน และเตรียมความพร้อมสู่การมีงานทําให้แก่นักศึกษาพิการ พร้อมทั้งมีการศึกษาดูงานในสถานประกอบการที่ที่ดีที่สุดในด้านการจ้างงานคนพิการ โดยมี นายสุทน เฉื่อยพุก ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนากำลังคน กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน ชั้น 5 อาคารอุดมศึกษา 1 สป.อว.
นางสาวสุชาดา กล่าวว่า น้อง ๆ นักศึกษาเป็นอนาคตสําคัญของประเทศชาติ เมื่อได้มีโอกาสก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยแล้ว ก็ต้องพร้อมรับการพัฒนาทักษะในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้าน Hard Skills หรือ Soft Skills เพื่อให้มีความรู้ความสามารถติดตัวไปให้ได้มากที่สุด กระทรวง อว. ได้ผลักดันและเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ทุกคน มีโอกาสและได้รับสิทธิทางการศึกษาในทุกด้าน เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษา แห่งชาติ พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสําหรับคนพิการ พ.ศ. 2551 ที่มุ่งเน้นให้ความสําคัญเกี่ยวกับสิทธิและโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา โดยต้องได้รับการบริการและความช่วยเหลือจากรัฐเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอํานวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ําและเปิดโอกาสให้ทุกคนในสังคมได้เข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาอย่างเท่าเทียม รวมทั้งได้รับการพัฒนาทักษะเพื่อให้สามารถดํารงชีวิตอย่างอิสระในสังคมได้อย่างปกติสุข
นางสาวสุชาดา กล่าวต่อว่า กระทรวง อว. ในฐานะหน่วยงานที่กํากับดูแลด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา ได้กําหนด นโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการจัดการศึกษาสําหรับคนพิการหรือผู้ที่มีความจําเป็นพิเศษใน ระดับอุดมศึกษา เพื่อมุ่งเน้นประเด็นสําคัญ ดังนี้
1. คนพิการในสังคมได้รับโอกาสและบริการทางการศึกษาที่เท่าเทียมกับคนทั่วไป
2. ผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งเปิดโอกาสและรับคนพิการทุกประเภทเข้าศึกษา โดยไม่ปฏิเสธการรับ ทั้งนี้ การรับเข้าต้องมีสัดส่วนหรือจํานวนที่เหมาะสมโดยคํานึงถึงความพร้อมของ สถาบัน และเปิดโอกาสรับที่ครอบคลุมกับทุกกลุ่มประเภทความพิการ ไม่จํากัดอยู่เพียงประเภทใดประเภทหนึ่ง เน้นจัดการเรียนการสอนแบบ Inclusive Education ที่เหมาะสมและเอื้อต่อการเข้าถึงการศึกษา และหลักสูตรที่เปิดสอนต้องเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กําหนด
3. สนับสนุนการจัดตั้งหน่วยหรือศูนย์บริการนักศึกษาพิการ หรือที่เรียกกันว่าศูนย์ DSS Center (Disability Support Services Center) ในทุกสถาบัน รวมถึงจัดให้มีบุคลากรและระบบสนับสนุนที่ช่วยให้นิสิตนักศึกษาได้ศึกษาเล่าเรียนอย่างมีคุณภาพ
4. พัฒนาศักยภาพและส่งเสริมความก้าวหน้าของบุคลากรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง กับการจัดการศึกษาสําหรับคนพิการ ในทุกระดับ
5. สนับสนุนการจัดโครงการหรือกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาทักษะชีวิตและเสริมสร้างศักยภาพ ด้านวิชาการและการศึกษาเล่าเรียน
และ 6. ให้นิสิตนักศึกษาได้มีงานทําทันทีเมื่อสําเร็จการศึกษา และสามารถประกอบ อาชีพเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้
“โครงการฯ ดังกล่าวได้สนับสนุนเงินอุดหนุนทางการศึกษาให้น้อง ๆ ได้เรียนจนจบในระดับอนุปริญญา และระดับปริญญาตรี พร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณให้สถาบันอุดมศึกษาจัดโครงการ หรือกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มพูนทักษะและการจัดบริการต่าง ๆ เพื่อลดอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษา รวมทั้งสนับสนุนการดําเนินงานของศูนย์บริการนักศึกษาพิการ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ในสถาบันอุดมศึกษามากกว่า 48 แห่ง ทั่วทุกภูมิภาค” นางสาวสุชาดา กล่าว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.