วันที่ 11 พ.ย.67 น.ส. ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ตนได้มีนโยบายในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการควบคุมพลาสมาและนิวเคลียร์ฟิวชัน สำหรับพลังงานฟิวชัน รวมถึงมาตรการสนับสนุนการติดตั้งและเดินเครื่องปฏิกรณ์หน่วยย่อยขนาดเล็ก SMR สำหรับพลังงานฟิสชัน เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาดจากเทคโนโลยีขั้นสูงในภูมิภาคอาเซียน โดยด้านเทคโนโลยีพลังงานฟิวชัน ได้มอบหมายให้ รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผอ.สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เร่งพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเครื่องโทคาแมค Thailand Tokamak-1 ที่ได้ติดตั้งสำเร็จแล้ว ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลาสมาและฟิวชัน ให้มีศักยภาพในการต่อยอดและประยุกต์ใช้ รวมทั้งการพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในด้านนี้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสนับสนุนการจัด ASEAN School for Plasma and Nuclear Fusion หรือ “โรงเรียนฟิสิกส์และฟิวชันนิวเคลียร์อาเซียน” เพื่อเสริมสร้างความรู้และแรงบันดาลใจแก่เยาวชนและนักวิจัยรุ่นใหม่ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ขณะที่ ด้านเทคโนโลยีพลังงานฟิสชัน ได้มอบหมายให้นางเพ็ญนภา กัญชนะ รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) พัฒนาข้อกำหนดมาตรฐานและการควบคุมความปลอดภัยเพื่อสนับสนุนการติดตั้งและเดินเครื่องปฏิกรณ์หน่วยย่อยขนาดเล็ก SMR (Small Modular Reactors) สำหรับพลังงานฟิสชันให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล พร้อมศึกษาและกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยในการจัดการกากกัมมันตรังสี เพื่อเตรียมพร้อมประเทศไทยในการรองรับการพัฒนาและลงทุนในเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาด ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน ความมั่นคงและยั่งยืนทางพลังงาน และประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ
รมว.อว. กล่าวต่อว่า การริเริ่มพลังงานสะอาดนี้เกิดขึ้นภายหลังที่นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร มอบหมายตนเป็นตัวแทนประเทศไทยในการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านพลังงานฟิวชันครั้งแรก Inaugural Ministerial Meeting of the IAEA World Fusion Energy Group (WFEG) ซึ่งจัดขึ้นโดยทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ(IAEA) ณ กรุงโรม เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา การประชุมนี้มีผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิก IAEA กว่า 30 ประเทศ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศและภาคเอกชนเข้าร่วม เพื่อแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และกำหนดแนวทางในการพัฒนาพลังงานฟิวชันเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน ที่สำคัญ ในการประชุมครั้งนี้ IAEA ยังได้เปิดตัวเอกสารสำคัญ ได้แก่ World Fusion Outlook 2024 และ Fusion Key Elements ซึ่งเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาพลังงานฟิวชันเชิงพาณิชย์ โดยเน้นองค์ประกอบสำคัญ 6 ด้าน ได้แก่ การวิจัย อุตสาหกรรม ความปลอดภัย ความมั่นคง ความร่วมมือระหว่างประเทศ และการมีส่วนร่วมของสาธารณะ
”การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานฟิวชันที่ประเทศไทยมุ่งมั่นขับเคลื่อนนี้ ไม่เพียงแต่จะช่วยลดการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล แต่ยังสร้างความมั่นคงด้านพลังงานที่สะอาดและยั่งยืน ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การที่ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรและผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในการพัฒนาฟิวชันเป็นอีกก้าวสำคัญที่แสดงถึงศักยภาพและความพร้อมในการก้าวขึ้นสู่ศูนย์กลางด้านพลังงานสะอาดในภูมิภาค ซึ่งนโยบายดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยเน้นการวิจัย การพัฒนาบุคลากร และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ ยืนยันว่ากระทรวง อว. มุ่งมั่นที่จะผลักดันการวิจัยพลังงานฟิวชันให้เป็นจริง ตลอดจนขยายองค์ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาอนาคตด้านพลังงานที่ยั่งยืนสำหรับคนไทย“ น.ส.ศุภมาส กล่าว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.