เมื่อวันที่ 27 ม.ค. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง “การบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีนิวเคลียร์ และเทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาคแนวตรง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านงานวิจัย พัฒนานวัตกรรมและการใช้ประโยชน์” ภายใต้แนวคิดฉายรังสีปลอดภัย อาหารพื้นถิ่นปลอดโรค ปี 2568 โดยมี รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ (สทน.) รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) หรือ (สช.) รศ.สมเจตน์ ดวงพิทักษ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ผศ.ดร.สานนท์ ด่านภักดี อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ และ ดร.เนตรชนก จันทร์สว่าง รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เป็นผู้ลงนามบันทึกข้อตกลงฯ พร้อมทั้งมีคณะผู้บริหาร สทน. สช. และมหาวิทยาลัยราชภัฏ เข้าร่วมงาน ณ ห้องแถลงข่าว อาคารพระจอมเกล้า ชั้น 1 สป.อว. (โยธี)
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า กระทรวง อว. เป็นกระทรวงที่ดูแลและขับเคลื่อนองค์ความรู้ของประเทศ ทั้งการพัฒนากำลังคนขั้นสูง การวิจัยและพัฒนา การนำผลงานวิจัยและพัฒนาไปใช้ประโยชน์ และการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ในการขับเคลื่อนการวิจัย การลงนามความร่วมมือของทั้ง 5 องค์กรในวันนี้จึงนับเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่องค์กรด้านวิทยาศาสตร์และภาคการศึกษาได้มาสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงในยุทธศาสตร์ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เรื่องการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การส่งเสริมความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งตรงกับยุทธศาสตร์ในเรื่องการวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ของประเทศ และสร้างระบบนิเวศการวิจัย
ด้าน รศ.ดร.ธวัชชัย กล่าวว่า เทรนด์ Soft Power ที่ต้องการยกระดับอาหาร พื้นถิ่นไทยสู่สากล และเทรนด์อาหารฟังก์ชัน (Functional Food) กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย สร้างโอกาสทองให้ผู้ประกอบการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพออกมาจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง สทน. จึงเล็งเห็นถึงประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีการฉายรังสี มาร่วมวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งในด้านช่วยลดปริมาณจุลินทรีย์ก่อโรค ช่วยชะลอการสุกและช่วยยืดอายุการเก็บ ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพออกมาจำหน่าย ให้คนไทยได้มีสุขภาพที่ดีต่อไปด้วย
รศ.ดร.ธวัชชัย กล่าวต่อว่า พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ในวันนี้ เกิดขึ้นเพื่อให้การฉายรังสีในอาหารเป็นที่ยอมรับและมีการใช้ประโยชน์แพร่หลายมากขึ้น โดย สทน.ได้ดำเนินการโครงการฯ มาแล้วตั้งแต่ปี 2564 และได้ลงพื้นที่ขยายผลต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี สำหรับการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ทุกหน่วยงานจะทำงานร่วมกันทั้งในเรื่องการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ การสร้างการยอมรับเรื่องประโยชน์ของการฉายรังสี และประสานงานอำนวยความสะดวก ในการส่งผลิตภัณฑ์เพื่อมาฉายรังสีรวมทั้งมีการใช้พื้นที่และทรัพยากรต่าง ๆ ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาตัวสินค้า จนสามารถขยายไปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่จะนำไปจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ ทั้งนี้ นับจากปี 2564 ที่ สทน. ได้ร่วมกับสถาบันราชภัฏ นำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ด้านการฉายรังสีอาหารไปส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิตอาหารพื้นถิ่น และกลุ่มผู้ประกอบการ SME ภายใต้โครงการ "การสร้างมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่น และอาหารฟังก์ชั่น ด้วยการฉายรังสีอาหาร" ทำให้ขณะนี้ มีผลิตภัณฑ์ที่เข้าร่วมโครงการแล้ว รวมทั้งสิ้น 786 ผลิตภัณฑ์
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.