เมื่อวันที่ 5 ก.พ. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงาน “สืบศิลป์ สานสร้าง นวัตกรรมผ้าบาติก” กิจกรรมการส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานด้าน อววน. เพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ชายแดน โดยมี นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วย รมว.อว. พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.อว. ผศ.ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (อว.ส่วนหน้าจังหวัดปัตตานี) นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และมีคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ประชาชนชาวปัตตานี เข้าร่วม ณ วิชชาลัยชุมชนบาติกโมเดล ต.สะบารัง อ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี
น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า กระทรวง อว. มีนโยบายสนับสนุนการนำองค์ความรู้ด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไปพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยผสานศักยภาพท้องถิ่นกับองค์ความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรม สู่การบูรณาการเชิงสร้างสรรค์ และยังเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ศิลปะและวัฒนธรรมของไทยเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก กระทรวง อว. ได้นำผ้าบาติกอันโดดเด่นของปัตตานี มาต่อยอดด้วยองค์ความรู้ด้านวิจัยและนวัตกรรม จนเกิดเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นกับเทคโนโลยี โดยใช้ความงดงามของผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก มาเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ ควบคู่กับคุณค่าทางสังคมอีกด้วย กระทรวง อว. จะผลักดันผ้าบาติกปัตตานีสู่ระดับสากล และยกระดับให้ปัตตานี เป็นศูนย์บ่มเพาะนักออกแบบรุ่นใหม่และแปรรูปผลิตภัณฑ์ พัฒนาให้เป็นเมืองแฟชั่นผ้าบาติกใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ส่งออกสู่ตลาดโลกมุสลิม ด้วยการใช้งานวิจัยขับเคลื่อนความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Cultural Diversity) แปลงทุนวัฒนธรรมให้เป็นธุรกิจ สร้างรายได้ และภาพจำให้ปัตตานี
“ความสำเร็จนี้ เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งสถาบันอุดมศึกษาในปัตตานี สงขลา ยะลา นราธิวาส ทีมวิจัยจาก กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รวมทั้งผู้ประกอบการ นิสิต-นักศึกษา ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่สนับสนุนพื้นที่วิชชาลัยชุมชนบาติกโมเดล และการจัดงาน “สืบศิลป์ สานสร้าง นวัตกรรมผ้าบาติก” อันเป็นการสืบสานพระปณิธาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงเจริญรอยตามพระยุคลบาท สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงสานต่องานด้านศิลปหัตถศิลป์ให้เป็นอาชีพที่ยั่งยืน และอนุรักษ์ผ้าทอพื้นเมือง อันทรงคุณค่ายิ่งไว้บนผืนแผ่นดินไทย ในโอกาสนี้ ตนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ จึงน้อมนำหลักการทรงงานมาประยุกต์ปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสมและพัฒนาสร้างสรรค์ต่อยอดภูมิปัญญาผ้าบาติกให้ทันสมัยเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งในและต่างประเทศ แต่ยังคงไว้ลวดลายของผืนผ้า ที่สื่อถึงความเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นและศิลปหัตถศิลป์ไทยสืบไป” น.ส.ศุภมาส กล่าว
นายศุภชัย กล่าวว่า กระทรวง อว. ไม่สามารถติดไฟฟ้าเพื่อให้ถนนหนทางของประชาชนสว่างได้ แต่สามารถติดอาวุธทางปัญญาให้กับทุกท่านได้ กระทรวง อว. ถือเป็นคลังสมองที่สำคัญของประเทศ และเป็นขุมกำลังที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศได้ โดยใช้องค์ความรู้ด้าน อววน. มาช่วยสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนให้สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ได้อย่างถ้วนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ้าบาติกจะไม่ได้อยู่แค่ในปัตตานี หรือในสามจังหวัดชายแดนใต้อีกต่อไป แต่จะต้องถูกส่งต่อไปยังนานาประเทศ ตนมั่นใจว่ากระทรวง อว. จะเป็นประตูไปสู่โอกาสที่ทำให้พี่น้องประชาชนสามจังหวัดชายแดนใต้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไป
พญ.เพชรดาว กล่าวว่า กระทรวง อว. และหน่วยงานภายใต้สังกัด มีความมุ่งมั่นที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนสามจังหวัดชายแดนใต้เสมอมา โดยได้มีการบ่มเพาะเมล็ดพันธ์ุในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการศึกษา ด้าน เศรษฐกิจ ด้านการท่องเที่ยว และด้านอาชีพ โดยเฝ้ารอการเติบโตและเก็บเกี่ยวผลผลิตที่งดงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพยายามหาเครื่องมือและกลไกที่จะช่วยเหลือด้านปากท้องของประชาชน หรือ “สันติภาพที่กินได้” โดยสนับสนุน SMEs และสตาร์ทอัพท้องถิ่น ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ผ้าบาติกนับเป็นภูมิปัญญาและเอกลักลักษณ์ของพื้นที่ภาคใต้ ตนจึงต้องการให้สิ่งนี้สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ต่อไป
ทำข่าว : นางสาวธนิดา วิมลเศรษฐ
ถ่ายภาพ : นายฐิติพงศ์ แสงรักษ์
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mai l: pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.