เมื่อวันที่ 6 ก.พ. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายและทิศทางการจัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของประเทศไทย” ในพิธีการประชุมสภาคณะผู้บริหารบัณฑิตศึกษาแห่งประเทศไทย (สทบท.) ครั้งที่ 1/2568 โดยมี นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วย รมว.อว. พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.อว. ผศ.ดร.ศิริชัย นามบุรี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และ รศ.ดร.ลิลลา อดุลยศาสน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและคุณภาพบัณฑิต เข้าร่วม ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า กระทรวง อว. มีนโยบายสำคัญที่จะเดินหน้านำพาประเทศไทยไปสู่อนาคต ภายใต้วิสัยทัศน์ “เรียนดี มีความสุข มีรายได้ เน้นวิจัย สร้างนวัตกรรมดี ตรงความต้องการ” โดยมุ่งเน้นการพัฒนาการศึกษาที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและเศรษฐกิจ ทั้งในระดับชาติ และท้องถิ่น กระทรวง อว. มุ่งมั่นผลักดันนโยบาย “2 ลด 2 เพิ่ม” เพื่อให้เยาวชนทุกคนได้รับโอกาสที่เท่าเทียม ลดภาระ - ลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา และเพื่อให้ทุกครอบครัวสามารถส่งบุตรหลานเข้าสู่ระบบอุดมศึกษาได้โดยไม่มีภาระหนักเกินไป ซึ่งเป็นการลดความเหลือมล้ำทางการศึกษา รวมทั้งมุ่งมั่นที่จะเพิ่มทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกอนาคต เพื่อเพิ่มโอกาสให้บัณฑิตมีรายได้ มีอาชีพที่มั่นคง และแข่งขันได้ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกได้ นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังจัดให้มี Free TCAS และ TGAT เพื่อให้ทุกคนสามารถสมัครสอบได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และมีโอกาสในการเข้าศึกษาต่ออย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งมีการสนับสนุนโครงการ "เรียนดี มีรายได้" เพื่อให้เยาวชนสามารถเรียนไปด้วยและมีรายได้ไปด้วย ผ่านโครงการสหกิจศึกษา (Coop+) การฝึกงานแบบได้รับค่าตอบแทนและการเรียนรู้ที่สามารถนำไปใช้สร้างอาชีพได้จริง ส่วนผู้ที่ไม่สามารถเรียนแบบเต็มเวลาได้ ก็จัดให้มีระบบธนาคารหน่วยกิต (National Credit Bank) เพื่อเป็นทางออกที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยกิตจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้ โดยไม่ต้องเรียนจบภายในเวลาที่กำหนด แต่ยังสามารถเรียนรู้ในเวลาที่เหมาะสม และจัดให้มีแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ ที่เปิดให้ทุกคนสามารถเรียนหลักสูตรระดับมหาวิทยาลัยจากที่บ้านได้ เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ต ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวง อว. ยังมีโครงการให้ทุนการศึกษาและการสนับสนุนเป็นพิเศษแก่เยาวชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ที่ต้องการเรียนต่อ แต่ขาดโอกาสด้านการเงินอีกด้วย
นางสาวศุกมาส กล่าวต่อว่า สำหรับปีต่อไป กระทรวง อว. จะสานต่อนโยบายเดิมให้ต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยมี 12 เรื่องที่จะทำทั้งในด้านการอุดมศึกษา และด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ ววน. ได้แก่ 1.) ปฏิรูปอุดมศึกษาด้วยเทคโนโลยี AI ผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษาก้าวสู่การเป็น AI University รองรับยุค Education 6.0 ด้วยการนำ AI และ Metaverse มาช่วยในการเรียนการสอนแบบ Immersive Education 2.) เพิ่มโอกาสในการเข้าทำงานของบัณฑิตจบใหม่ โดยจัดให้มีงาน Job Fair ภายในต้นปีหน้า 3.) เพิ่มประสิทธิภาพของกำลังคนตามความต้องการของอุตสาหกรรม ให้มหาวิทยาลัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรมพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพ ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน 4.) เพิ่มประสิทธิภาพระบบการพิจารณาการขอตำแหน่งทางวิชาการ จัดให้มีระบบการตรวจสอบสถานะผ่านออนไลน์ และปรับปรุงกระบวนการพิจารณาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 5.) สนับสนุนให้มีโรงเรียนสาธิตอินเตอร์ในสาธิดที่มีความพร้อม 6.) ผลักดันกฎหมายจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม 7.) ผลักดันไทยให้เป็น Education Hub โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำจากต่างประเทศ 8.) ผลักดัน อว. ให้เป็นกระทรวงเศรษฐกิจ ใช้ ววน. เพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ สนับสนุนอุดสาหกรรมใหม่ และผลักดันวาระสำคัญเพื่ออนาคตที่ยั่งยื่นของประเทศ 9.) นำ ววน. ไปแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ อาทิ น้ำแล้ง ภัยพิบัติ PM2.5 ความมั่นคงด้านพลังงาน เป็นต้น 10.) นำอุทยานวิทยาศาสตร์ (Science Park) ไปสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและผู้ประกอบการ SMEs และ Startup ในท้องถิ่น 11.) สนับสนุนเทคโนโลยีขั้นแนวหน้าของประเทศ และ 12.) ปฏิรูประบบ ววน. อย่างต่อเนื่อง
“กระทรวง อว. มุ่งมั่นที่จะนำการศึกษาและโอกาสเข้ามาสู่พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ให้มากขึ้น ตนเชื่อว่า หากให้โอกาสที่เท่าเทียม เยาวชนที่นี่จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ เราจะทำให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่แห่งโอกาส ที่เต็มไปด้วยนักศึกษา นักวิจัย และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่พร้อมจะขับเคลื่อนอนาคตของประเทศต่อไป” น.ส.ศุภมาส กล่าว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.