เมื่อวันที่ 17 ก.พ.68 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.อว. น.ส.สุชาดา ซาง แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. และผู้บริหารกระทรวง อว. ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของกระทรวง อว. ภายใต้การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (สงขลา ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง) ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา จ.สงขลา โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก แต่ละหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. ได้นำนิทรรศการและผลผลิตทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาจัดแสดงอย่างคับคั่ง
โดยน.ส.ศุภมาส ได้มอบนโยบาย “การขับเคลื่อนงานด้าน อววน. เพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย” ว่า กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยที่ประกอบไปด้วยสงขลา ชุมพร พัทลุง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีศักยภาพทางด้านภูมิประเทศเป็นอย่างมาก เพราะมีความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เหมาะแก่การทำการเกษตร ประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ตลอดจนเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงด้านการท่องเที่ยว ทำให้ตนเห็นถึงโอกาสสำคัญของกระทรวง อว.ที่จะนำงานด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม( อววน.) ไปเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจให้กับกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย มุ่งสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูง ขณะเดียวกันจะมีการยกระดับทรัพยากรบุคคลให้มีสมรรถนะและมีทักษะแรงงานเพื่ออนาคตในภาคการผลิต 4 สาขาหลัก ได้แก่ 1.ภาคเกษตรกรรม ยกระดับการเกษตรสู่เกษตรทันสมัยและเกษตรมูลค่าสูง โดยเฉพาะ ยางพารา ผลไม้ ปศุสัตว์ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ 2.ภาคการท่องเที่ยว ยกระดับศักยภาพพื้นที่ ที่มีความหลากหลายของทรัพยากร เพิ่มกิจกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ มุ่งสู่การพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวตากอากาศชั้นนำระดับโลก (World Class Destination) 3.ภาคสังคม มุ่งสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ในระดับโลก และ 4.ภาคอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG สู่ผลิตภัณฑ์และบริการมูลค่าสูงอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม
“ที่สำคัญ กระทรวง อว.จะนำภูมิปัญญาท้องถิ่น มาเสริมสร้างศักยภาพและโอกาส เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและการค้าที่สูงขึ้นให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยการนำองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ และหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. มาขับเคลื่อนธุรกิจฮาลาล ให้ได้มาตรฐาน และไม่ขัดต่อบัญญัติของอิสลาม โดยจะมีการพัฒนาความพร้อมของระบบนิเวศ จัดตั้งศูนย์วิจัยและห้องปฏิบัติการเพื่อธุรกิจฮาลาล พัฒนากำลังคน การเสริมสร้างทักษะ/ให้คำปรึกษา upskill reskill และ newskill กำลังคนด้านฮาลาลพัฒนาและยกระดับธุรกิจฮาลาลด้วยนวัตกรรม บ่มเพาะผู้ประกอบการธุรกิจฮาลาล ให้ได้มาตรฐาน - สร้างสรรค์ออกแบบทั้งการผลิตและบริการด้วยนวัตกรรมสู่ตลาดโลก สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับพันธมิตรหลัก ได้แก่ สถาบันฮาลาล สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด สมาคมนักธุรกิจไทย-มุสลิม หอการค้าจังหวัดและส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อมุสลิม“ น.ส.ศุภมาส กล่าว
นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.จังหวัดสงขลา เขต 7 พรรคภูมิใจไทย ซึ่งมาร่วมรับฟังนโนบาย กล่าวว่า ตนอยากจะให้ น.ส.ศุภมาส และกระทรวง อว. ช่วยเหลือประชาชนในจังหวัดสงขลา โดยเฉพาะการยกระดับผลิตผลทางการเกษตร 3 ชนิด เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ตัวแรกคือ ยางพารา อยากให้มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น เพราะปัจจุบันพื้นที่ในการปลูกยางพาราลดลงและมีการปลูกพืชชนิดอื่นมาทดแทน ดังนั้น ต้องทำให้ราคายางพาราดีขึ้น 2.ทุเรียน ปัจจุบันในจังหวัดสงขลาปลูกทุเรียนใน 5 อำเภอ เช่น นาทวี สะบ้าย้อย สะเดา จะนะ และรัตภูมิ โดยราคาตลาดขณะนี้ไม่ถึงร้อยบาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ทุเรียนจากจังหวัดอื่นมีราคาเกินร้อยบาทไปแล้ว อยากจะให้กระทรวง อว. ช่วยยกระดับทุเรียนสงขลาให้ได้กิโลกรัมละเกินหนึ่งร้อยบาทเช่นจังหวัดอื่น เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และ 3.ปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าเศรษฐกิจสำคัญ อยากให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาแปรรูปให้มากกว่านี้
ขณะที่ น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า กระทรวง อว. ยินดีที่จะนำงานวิจัยและพัฒนา รวมถึงนวัตกรรมไปเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจให้กับสินค้าทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิด
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.