(11 มีนาคม 2563) ที่อาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมกับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) โดยบริษัท ซีพี ฟู้ดแล็บ จำกัด หน่วยงานวิจัยอาหาร บริษัท ซีพีแรม จำกัด ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อยกระดับการพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารที่ใส่ใจถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค พร้อมสนับสนุนการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนนำผลงานทางวิชาการไปใช้ต่อยอดการประยุกต์ใช้บรรจุภัณฑ์อาหารในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารได้ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทย ในการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของภูมิภาคเอเชีย โดยมี นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ พร้อมกันนี้ยังมีทีมวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติก กลุ่มวิจัยกระบวนการทางวัสดุและการผลิตอัตโนมัติ เอ็มเทค สวทช. ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสององค์กรร่วมเป็นสักขีพยาน โดยความร่วมมือดังกล่าวครอบคลุมในเรื่องการวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับใส่อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ในฐานะศูนย์วิจัยแห่งชาติที่มีทีมวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ ในการนำองค์ความรู้ด้านโพลิเมอร์ขั้นสูงไปประยุกต์ใช้ในการวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับใส่อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมร่วมกับบริษัทเอกชน เพื่อร่วมผลักดันการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับใส่อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้จริงในอนาคต เพื่อท้ายสุดสามารถเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
ด้าน นายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการบริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย กล่าวว่า ซีพี ออลล์ และบริษัทย่อย มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยตระหนักและให้ความสำคัญต่อการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ ผ่านยุทธศาสตร์หลักที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2554 ภายใต้โครงการ “7 Go Green” ขอบเขตการดำเนินงานมุ่งเน้น 4 ด้านคือ Green Stores, Green Logistics, Green Packaging และ Green Living
“ความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกสำหรับใส่อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นหนึ่งในนโยบายส่งเสริมการพัฒนากระบวนการผลิต สร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากบรรจุภัณฑ์ ในการลดใช้ทรัพยากรธรรมชาติและลดของเสียหลังการใช้งานบรรจุภัณฑ์ มุ่งสู่ Green Packaging คำนึงถึงทุกกระบวนการในวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle) โดยการพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สามารถย่อยสลายได้สำหรับอาหารแช่เย็นพร้อมรับประทาน ที่สามารถทนต่อการอุ่นร้อนด้วยเครื่องไมโครเวฟได้ พร้อมเน้นความปลอดภัยต่อผู้บริโภคเป็นสำคัญ โดยความร่วมมือดังกล่าวเป็นไปตามปณิธานองค์กรของซีพี ออลล์ คือ “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้ทุกคน” สร้างให้เกิดนวัตกรรมในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน ควบคู่ไปกับ การพัฒนาสิ่งแวดล้อม ชุมชนและสังคมอย่างต่อเนื่อง” นายวิเศษย้ำ
โอกาสนี้ นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย มีภารกิจหลักในการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมสนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชน โดยจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะเสริมสร้างระบบนวัตกรรมของประเทศ ช่วยสนับสนุนเชื่อมโยงองค์กรเอกชนผู้เช่าพื้นที่ทำวิจัยกับหน่วยงานวิจัย และหน่วยงานให้บริการในประชาคมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เพื่อยกระดับเทคโนโลยีการวิจัยและพัฒนาขององค์กรภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ทางอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยประสานความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาระหว่าง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และ บริษัท ซีพี ฟู้ดแล็บ จำกัด หน่วยงานวิจัยอาหาร บริษัท ซีพีแรม จำกัด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคเอกชน อันเป็นการขับเคลื่อน BCG Economy Model รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่เร่งให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดบนฐานการวิจัยและพัฒนาที่ยั่งยืน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.