สกสว. และกองทัพบก โดย สวพ.ทบ. หารือแนวทาง “ราชวิถีโมเดล” ต่อยอดงานวิจัย อ.อ๊อด วีรชัย เพื่อใช้หน้ากากป้องกันสารพิษทางทหารเป็นยุทธภัณฑ์ทางการแพทย์กู้วิกฤตโควิด-19 หลังรพ.ราชวิถีขอมา 500 ชิ้น นำเรียนผบ.ทบ.และนายกฯ เห็นชอบแล้ว จะเร่งผลิตควบคู่ขอรับรองมาตรฐานต่อไป
กองทัพบกโดยสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก (สวพ.ทบ.) จัดประชุมพิจารณาแนวทางการดำเนินการเพื่อให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการป้องกันและรักษาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ณ ห้องประชุม สวพ.ทบ. สืบเนื่องจากโรงพยาบาลราชวิถีได้ขอความอนุเคราะห์นำผลงานวิจัยหน้ากากป้องกันสารพิษทางทหารที่มี รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ไปผลิตเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจ PAPR สำหรับแจกจ่ายให้บุคลากรทางการแพทย์จำนวน 500 ชิ้น สำหรับป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระหว่างการทำหน้าที่ตรวจสอบและดูแลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว
พญ.อรศิริ เสรีรัตน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถีด้านพัฒนาระบบสุขภาพ ได้รายงานการพยากรณ์จำนวนผู้ป่วยสะสมรายพื้นที่เพื่อการวางแผนทรัพยากรรายจังหวัดและประเทศ ว่าสถานการณ์ปัจจุบันมีจำนวนคนไข้ 54 ราย นอนหอผู้ป่วย 22 ราย เนื่องจากข้อจำกัดของสถานที่ รวมถึงได้พัฒนาห้อง semi ICU นอกจากแพทย์จะทำการรักษา สร้างเต็นท์ ใส่เครื่องป้องกันระดับสูงสุด คำนวณว่าต้องใช้ประมาณ 80 ชิ้นต่อวัน นอกจากนี้ยังมีคนไข้ที่จำเป็นต้องผ่าตัด ผ่าคลอด จึงต้องจัดทีมแพทย์พยาบาล และจำเป็นต้องใช้เครื่องป้องกันรวม 200 ชิ้นต่อวัน โดยสิ่งสำคัญคือ การคำนึงถึงคุณภาพและความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ แม้มีเงินก็ยังซื้ออุปกรณ์ป้องกันไม่ได้ เพราะมีความต้องการจากโรงพยาบาลต่าง ๆ จำนวนมาก หากโครงการนี้เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์มาก ความต้องการหน้ากากของโรงพยาบาลราชวิถีขณะนี้อยู่ที่ 500 ชิ้น อาจจะไม่เพียงพอ เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน หัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนาหน้ากากป้องกันสารเคมี-ชีวะสำหรับพลประจำรถถัง ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ขณะนี้หน้ากากดังกล่าวได้ผ่านการทดสอบมาตรฐานระดับโลกที่สาธารณรัฐเช็กแล้ว เพื่อให้สามารถจัดจำหน่ายได้ทั่วโลก แต่สถาบันทดสอบได้ขอเลื่อนการส่งผลการทดสอบครั้งสุดท้ายเนื่องจากติดสถานการณ์โควิด-19
สำหรับวิกฤตที่เกิดขึ้นในขณะนี้ยังไม่ถึงการใช้อุปกรณ์ในระดับ Level A ที่จะต้องสวมใส่ชุดครบ โดยขณะนี้ยังเป็น Level B คืออุปกรณ์ต้องสามารถกันน้ำได้ มีมาตรฐานป้องกันเชื้อโรคได้เช่นเดียวกับชุดต่าง ๆ ที่ใช้ในต่างประเทศ ส่วนประกอบที่สำคัญที่สุด คือ ไส้กรอง ที่สามารถป้องกันได้ถึงระดับแก๊สน้ำตาและแก๊สพิษบางชนิด จึงสามารถป้องกันไวรัสโคโรนาได้แน่นอน และมีการทำแม่พิมพ์ขึ้นรูปสำหรับผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ โดยใช้สูตรยางพาราในประเทศไทย รวมถึงวัสดุที่ใช้เกรดทางการแพทย์ แล้วจึงทดสอบชิ้นงานประเทศโดยอ้างอิงการทดสอบตามมาตรฐานสากลของ NATO มีความสามารถในการทนกรด-ด่าง ทดสอบการรั่วซึมของระบบทางเดินหายใจ สามารถดื่มน้ำผ่านท่อได้โดยไม่ต้องถอดหน้ากาก ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถผลิตหน้ากากได้วันละ 100 ชิ้น โดยจะขอรับการบริจาคไส้กรองอากาศดักไวรัสและสารเคมีรุ่น P3 R จากบริษัท AVEC CHEM สาธารณรัฐเช็ก มีรับประกันอายุการใช้งาน 20 ปี
จำนวนสต็อกอุปกรณ์หน้ากากในปัจจุบันประกอบด้วย เลนส์ 100 ชิ้น ชุดครอบจมูก 500 ขิ้น ชุดควบคุมการหายใจออก 70 ชิ้น ชุดควบคุมการหายใจเข้า 70 ชิ้น หน้ากากยาง 500 ชิ้น ชุดส่งเสียง 70 ชิ้น ตัวขยายเสียงและสารรัดศีรษะไม่มีสต๊อก น้ำหนักของหน้ากากโดยรวมประมาณ 800 กรัม ตัวไส้กรองน้ำมีหนักเบาเหมาะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งคาดว่ากำลังการผลิตที่มีอยู่จะสามารถผลิตหน้ากากให้โรงพยาบาลได้วันละ 100 ชิ้น หาก ‘ราชวิถีโมเดล’ สำเร็จก็จะผลิตให้กับโรงพยาบาลอื่น ๆ ที่ต้องการต่อไป
ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้อำนวยการภารกิจการจัดทำแผนงบประมาณ สกสว. กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการประยุกต์ใช้ผลงานวิจัยหน้ากากป้องกันสารเคมี-ชีวะสำหรับพลประจำรถถังสำหรับการช่วยเหลือประเทศชาติ เช่น เป็นอุปกรณ์ป้องกันแก่เจ้าหน้าที่ในการดับไฟป่าทางภาคเหนือ ทำให้เกิดประโยชน์มหาศาลต่อพื้นที่ ส่วนสถานการณ์โควิด-19 นั้น ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกสว. ตระหนักถึงวิกฤตนี้และมอบนโยบาย Zero Covid Policy (ZCP) จึงยินดีที่จะขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้งานวิจัยดังกล่าวกับบุคลากรทางแพทย์ ซึ่งถือเป็นประเด็นเร่งด่วน และในอนาคตอาจจะสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับการผลิตหน้ากากให้แก่โรงพยาบาลอื่น ๆ ทั้งนี้ เบื้องต้นขอให้ผู้อำนวยการ สวพ.ทบ. ทำบันทึกถึงผู้อำนวยการ สกสว. เพื่อใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยสำหรับเป็นยุทธภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ขณะที่นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้เชี่ยวชาญนักทรัพยากรบุคคล สป.อว. กล่าวว่า จากนี้ไปคงจะมีโรงพยาบาลอีกจำนวนมากต้องการหน้ากากดังกล่าว จึงควรจะต้องมีการขยายกำลังการผลิตและสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการต่อไปด้วย ที่ประชุมมีความเห็นพ้องร่วมกันว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วนโดยควรดำเนินการคู่ขนานโดยเร็วที่สุดทั้งการผลิตหน้ากากป้องกันสารพิษและการขอรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เป็นต้น ซึ่งกองทัพบกไม่ขัดข้องที่จะนำผลงานวิจัยที่ทำร่วมกันไปขยายผลทางการแพทย์โดยไม่เรียกร้องผลประโยชน์ใด ๆ ถือเป็นการทำเพื่อประเทศชาติ โดยให้ สวพ.ทบ. เป็นหน่วยงานควบคุมการผลิต และเตรียมการฝึกใส่อุปกรณ์ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่ง สวพ.ทบ.ได้รายงานต่อผู้บัญชาการทหารบก และนายกรัฐมนตรีในฐานะ รมว.กลาโหม เห็นชอบให้ผลิตหน้ากากสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ หน้ากากถือเป็นยุทธภัณฑ์ทางทหารซึ่งจะต้องมีมาตรฐานสูงมาก แต่ในทางการแพทย์มาตรฐานจะไม่สูงเท่ายุทธภัณฑ์ทหาร ในภาวะวิกฤตเช่นนี้จึงควรเร่งกระบวนการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกองทัพบกจะไม่จดสิทธิบัตรแต่ต้องทำบันทึกขออนุญาตใช้ประโยชน์จากยุทธภัณฑ์ดังกล่าว สิ่งที่ต้องระวัง คือ จะต้องไม่มีอะไรผ่านเข้าไปในตัวหน้ากากได้เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะตัวไส้กรองจะต้องได้มาตรฐาน รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพตามมาตรฐานของโรงพยาบาล
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.