เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 ณ ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติ อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล: มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) แถลงข่าว “ความสำคัญของเทคโนโลยีการใช้หุ่นยนต์ทางการแพทย์ และนโยบายของมหาวิทยาลัยมหิดล ในการสนับสนุนการใช้ Robot ในสถานการณ์ปัจจุบัน” และ พิธีรับมอบหุ่นยนต์ Hapybot หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัจฉริยะผู้ช่วยแพทย์ จำนวน 3 ตัว เพื่อนำไปใช้งานจริงภายในโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล 3 แห่ง
ได้แก่ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานการแถลงข่าว พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ประธานคณะกรรมการวิชาการและเทคนิคเพื่อรองรับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วีระพงษ์ ภูมิรัตนประพิณ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ กลลดาเรืองไกร ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก นายพิชิต วิวัฒน์รุจิราพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) และ ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. เข้าร่วมงาน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่ามหาวิทยาลัยมหิดล มียุทธศาสตร์สำคัญหลายประการที่จะช่วยขับเคลื่อนและร่วมพัฒนาประเทศ พร้อมที่จะนำ องค์ความรู้ต่าง ๆ ช่วยเหลือสนับสนุนเมื่อเกิดปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ Covid-19 รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชนในการต่อยอดผลงานวิจัยต่าง ๆ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหา ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์มีงานล้นมือ ต้องปฏิบัติหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์มีส่วนช่วยบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างมาก จึงถูกนำมาใช้ในโรงพยาบาลเพื่อทำงานร่วมกับมนุษย์ เพื่อช่วยลดการสัมผัสผู้ป่วยติดเชื้อ สามารถใช้ในการติดตามคนไข้บนหอผู้ป่วย ใช้ในการดูแลและการพยาบาล ใช้ขนส่งอาหาร อุปกรณ์ทางการแพทย์ และเวชภัณฑ์ยา สิ่งเหล่านี้ คือ เหตุผลความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนของการที่ต้องนำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยงานมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยง และช่วยแบ่งเบาภารกิจของบุคลากร
ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ประธานคณะกรรมการวิชาการและเทคนิคเพื่อรองรับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID – 19) ที่มีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในประเทศ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้ความสำคัญในการนำผลงานวิจัยและเทคโนโลยีไปใช้ในการช่วยเหลือประเทศชาติเป็นภารกิจพิเศษ และกำหนดผลงานวิจัยและเทคโนโลยีของ สวทช. ที่มีศักยภาพในเชิงสุขภาพและการแพทย์ และดำเนินการเพื่อสนับสนุนความต้องการการใช้เครื่องมือรองรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พร้อมทั้งประสานงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องให้เกิดความร่วมมือ นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการที่ให้ความเห็นชอบผลงานวิจัยที่สำเร็จและผ่านข้อกำหนดด้านมาตรฐานและความปลอดภัยเครื่องมือแพทย์จนสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 รวมถึงยังติดตามและประเมินผลความก้าวหน้าในการดำเนินงาน เพื่อการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย
สำหรับหุ่นยนต์ HAPYBot นี้ บริษัท เน็ตเบย์ (มหาชน) จำกัด ได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือต่อสังคมในกิจกรรม CSR เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับแพทย์และพยาบาลในการป้องกันโรคระบาดฯ ดังกล่าว และได้รับการตรวจสอบและทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยทางการแพทย์จาก ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สวทช. ในการทดสอบระบบอิเล็กทรอนิกส์ ความปลอดภัย และมาตรฐานของหุ่นยนต์ เช่น แบตเตอร์รี่ในหุ่นยนต์ต้องเป็นแบตเตอรี่ที่มีความปลอดภัยสูง ไม่เกิดระเบิดเมื่อมีการชาร์จไฟเพิ่ม ระบบไฟฟ้าไม่ส่งสัญญาณไฟฟ้าที่ปล่อยคลื่นความถี่ไปรบกวนอุปกรณ์ทางการแพทย์ของโรงพยาบาล และระบบซอฟต์แวร์ รวมถึงระบบปฏิบัติการในการสั่งงานที่มีมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยในการใช้งานภายในโรงพยาบาลอย่างเป็นทางการ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วีระพงษ์ ภูมิรัตนประพิณ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในช่วงวิกฤตโควิด - 19 ที่ผ่านมา ที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ได้มีการนำหุ่นยนต์ HAPYBot ที่ผลิตโดยบริษัทเน็ตเบย์ มาทดสอบการใช้งานจริงเพื่อลดการสิ้นเปลืองของอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective, PPE) และความเสี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ในบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการทดสอบระบบอิเล็กทรอนิกส์ ความปลอดภัย และมาตรฐานของหุ่นยนต์ ซึ่งหุ่นยนต์ Hapybot มีความสามารถใน 4 ด้าน ประกอบด้วย การขนส่ง (Transport) การนำทาง (Guide) การแนะนำ-บรรยาย (Cruise) และการสนทนาแบบเห็นหน้า (TeleConference) โดยสามารถเคลื่อนที่อิสระได้ด้วยตัวเอง ด้วยความเร็ว 2.5 - 3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อประโยชน์ในการใช้ขนส่งยา วัคซีน และเวชภัณฑ์การแพทย์ รวมถึงสิ่งของอื่น ๆ พร้อมช่องเก็บแบบปิดเปิดและล็อคด้วยไฟฟ้า มีความจุ 17 ลิตร สามารถรองรับน้ำหนักบรรทุกได้ 10 - 15 กิโลกรัม โดยตัวเครื่องมีหน้าจอสำหรับพยาบาลเพื่อสื่อสารกับผู้ป่วย ซึ่งสามารถพูดคุยสนทนาแบบเห็นหน้าได้โดยไม่ต้องเชื่อมต่อกับระบบเน็ตเวิร์คของโรงพยาบาล
สำหรับคุณสมบัติพิเศษของหุ่นยนต์มีหลายฟังก์ชัน ในด้านการใช้ระบบ AI เข้ามาช่วยสร้างแผนการเดินทางได้อัตโนมัติ กำหนดพื้นที่ที่ต้องการหลีกเลี่ยงการเดินเมื่อมีอุปสรรคหรือสิ่งกีดขวาง ตลอดจนสามารถเปลี่ยนเส้นทางได้โดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมต่อกับระบบลิฟต์สั่งเปิด-ปิดกับประตูอัตโนมัติได้ รวมทั้งมีระบบ access control ที่สามารถตั้งรหัสผ่านเพื่อป้องกันการใช้งานจากผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาต และป้องกันการสูญหายของยา อีกทั้งสามารถตรวจสอบและรายงาน วัน-เวลา ที่ รับ-ส่ง ยา และระยะทางจากจุดเริ่มต้นถึงปลายทาง รวมถึงระบุผู้ส่ง-รับของได้ ซึ่งต่อไปคาดว่าจะมีการพัฒนาหุ่นยนต์แบบ Telemedicine ที่มีกล้องความละเอียดสูง ซึ่งใช้ช่วยแพทย์ในการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วย สามารถดูผ่านหุ่นยนต์ได้โดยที่แพทย์กับผู้ป่วยอยู่คนละที่ โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ได้จัดระบบการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด - 19 โดยจัดให้มี ARI Clinic (Acute Respiratory Illness Clinic) ที่อยู่นอกตัวอาคาร สำหรับการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด - 19 กับผู้ป่วยกลุ่มอื่น อีกทั้งได้จัดให้มี Cohort Ward สำหรับดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด - 19 โดยเฉพาะ ตลอดจนได้รับความร่วมมือกับภาคเอกชน จัดให้มีตู้ Negative Pressure และ Positive Pressure เพื่อเก็บสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วยและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการร่วมพัฒนา Negative Pressure Helmet กับ สวทช. ซึ่งมีลักษณะคล้ายหมวกกันน็อก มีแรงดันลบภายในตัวหมวก ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อทางเดินหายใจ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อออกนอกหมวกสู่ภายนอก
นายพิชิต วิวัฒน์รุจิราพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเน็ตเบย์ ดำเนินการเพื่อตอบแทนสังคมในกิจกรรม CSR มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้มอบหุ่นยนต์สำหรับโรงพยาบาลฝีมือคนไทยรายแรกที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยสาธารณสุข 10 ตัวทั่วประเทศ โดย 3 ตัวแรก มอบให้กับโรงพยาบาลในเครือมหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อรองรับปัญหาโควิด 19 ลดความเสี่ยงหมอและพยาบาลติดเชื้อ ซึ่งมีแนวคิด “Better Faster Cheaper” โดย หุ่นยนต์ HAPYBot จึงได้ถูกคิดค้นให้ทำหน้าที่ขนส่ง นำทาง เคลื่อนที่อิสระ เพื่อขนส่ง ยา วัคซีน และเวชภัณฑ์การแพทย์ อาหาร รวมถึงสิ่งของ อื่นๆ ได้ ตัวหุ่นยนต์มีช่องเก็บแบบปิด,เปิดและล็อคด้วยไฟฟ้า ขนาดจุ 17 ลิตร รองรับน้ำหนักบรรทุกได้ 10-15 กิโลกรัม ในช่องเก็บของในตัวหุ่นยนต์สามารถใส่ประเภทน้ำได้ เพราะเป็นช่องหล่อในตัวชิ้นเดียว ไม่มีรอยต่อ กันน้ำไม่ให้รั่วไปกระทบยังระบบหุ่นยนต์ สามารถสั่งการผ่านหน้าจอสัมผัสบนตัวหุ่นยนต์ หรือสั่งการด้วย computer web base, tablet, mobile application และ QR code ได้ โดยไม่ต้องเชื่อมต่อกับระบบ network ของโรงพยาบาล ทำให้การจัดส่งยาไปยังที่หมายได้หลายที่ ขึ้นกับคำสั่งการใช้งาน นอกจากนี้หุ่นยนต์ฯ ได้ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจาก สวทช. แล้ว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.