กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ออกประกาศ “ข้อแนะนำคุณลักษณะหน้ากากอนามัยแบบผ้า ”เพื่อความเหมาะสมด้านการใช้งานแก่ประชาชน ลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภาวะมลพิษทางอากาศจากฝุ่นละออง และลดขยะอันเนื่องมาจากการใช้หน้ากากแบบใช้แล้วทิ้ง โดยจัดทำร่วมกับ 10 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สมาคมอุตสาหกรรมทอผ้าไทย สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า คุณสมบัติสำคัญที่จะต้องพิจารณาการเลือกหน้ากากอนามัยแบบผ้า ทั้งหมด 4 ข้อ ประกอบด้วยข้อที่ 1 “ประสิทธิภาพการกรองอนุภาค (Particle Filtration Efficiency: PFE)” คือความสามารถในการดักกรองฝุ่นที่มีขนาดเล็กของหน้ากากอนามัยแบบผ้า ว่ามีประสิทธิภาพดีแค่ไหน จะเป็นตัวบอกถึงคุณภาพที่มีผลต่อการป้องกันมลพิษทางอากาศจากฝุ่นซึ่งจะต้องทำการทดสอบประสิทธิภาพการกรองอนุภาคขนาด 3 ไมครอนทั้งก่อนซักและหลักซัก 20 ครั้ง โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ
1. ป้องกันฝุ่นได้พอใช้ คือ มีประสิทธิภาพการปรองอนภาคขนาด 3 ไมครอน ก่อนซัก มากกว่าเท่ากับ 70% และหลังซัก 20 ครั้ง มากกว่าเท่ากับ 60%
2. ป้องกันฝุ่นได้ดี คือ มีประสิทธิภาพการปรองอนภาคขนาด 3 ไมครอน ก่อนซัก มากกว่าเท่ากับ 80% และหลังซัก 20 ครั้ง มากกว่าเท่ากับ 70%
3. ป้องกันฝุ่นได้ดีมาก คือ มีประสิทธิภาพการปรองอนภาคขนาด 3 ไมครอน ก่อนซัก มากกว่าเท่ากับ 90% และหลังซัก 20 ครั้ง มากกว่าเท่ากับ 80%
ข้อที่ 2 “การสะท้อนน้ำ (water repellency)” คือ สมบัติของผ้าที่สามารถผลักดันน้ำไม่ให้เกาะติดที่ผิวได้ เมื่อหยดน้ำลงบนผ้า น้ำจะกระจายตัวเป็นหยดไม่ซึมลงบนผ้า คล้ายน้ำกลิ้งบนใบบัว (lotus effect) โดยหน้ากากอนามัยแบบผ้านั้น ต้องมีคุณสมบัตินี้เป็นสำคัญเพราะการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 นั้นจะมาละอองฝอยของน้ำหรือสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ ดังนั้นหน้ากากชั้นนอกต้องมีสมบัติสะท้อนน้ำที่ดีป้องกันละอองฝอยดังกล่าว สมบัติการสะท้อนน้ำแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ
1. ไม่ป้องกันละอองฝอย คือก่อนซักและหลังซัก 20 ครั้ง ต้องมีการสะท้อนน้ำไม่น้อยกว่าระดับ ISO 1
2. ป้องกันละอองฝอย คือก่อนซักและหลังซัก 20 ครั้ง ต้องมีการสะท้อนน้ำไม่น้อยกว่าระดับ ISO 3
ข้อที่ 3 “การผ่านได้ของอากาศ” คือการวัดปริมาณของอากาศที่ไหลผ่านหน้ากากอนามัยแบบผ้าในช่วงเวลาที่กำหนด คุณสมบัตินี้จะเกี่ยวกับการหายใจเมื่อเราสวมใส่หน้ากากอนามัยและมีโอกาสที่ผู้สวมใส่จะใช้มือมาขยับหน้ากาก ทำให้เกิดการสัมผัสโดยไม่จำเป็น ถ้าอากาศผ่านได้น้อยเกินไปก็จะทำให้หายใจลำบาก แต่ถ้าอากาศผ่านได้ง่ายเกินไป ประสิทธิภาพในการป้องกันก็จะน้อยตามไปด้วย การผ่านได้ของอากาศ จะทำการทดสอบความแตกต่างของความดัน ก่อนซักและหลังซัก 20 ครั้ง จะต้องมีค่า น้อยกว่า 5.0 mmH2O/cm2
ข้อที่ 4 คุณสมบัติด้านความปลอดภัยของหน้ากาก ต้องทำการตรวจสอบปริมาณสาร 2 ชนิด คือ “ปริมาณสีเอโซ (Azo dyes) และปริมาณฟอร์แมลดีไฮด์ (Formaldehyde)” ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นสารพิษที่ก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ได้ สีเอโซมาจากผ้าสีหรือสีที่ใช้ย้อมเส้นใย ส่วนฟอร์แมลดีไฮด์มาจากกระบวนการผลิตเส้นใยที่ทำผ้า ถ้ามีการใช้สารทั้ง 2 ชนิดในกระบวนการผลิต ก็จะทำให้เกิดการตกค้างบนเนื้อผ้าได้ เมื่อนำผ้ามาทำเป็นหน้ากากอนามัย สารพิษก็อาจเข้าสู่ร่างกายผู้สวมใส่ได้ ในการตรวจสอบจะต้องใช้เครื่องมือและมีขั้นตอน วิธีการที่เป็นไปตามมาตรฐานที่ยอมรับในระดับสากล โดยในหน้ากากอนามัยแบบผ้า จะต้องพบสีเอโซ ไม่เกิน 30 mg/kg และสารฟอร์แมลดีไฮด์ไม่เกิน 75 mg/kg
ทั้งนี้ข้อแนะนำคุณลักษณะหน้ากากอนามัยแบบผ้านี้ แบ่ง ออกเป็น 6 ระดับ ตามประสิทธิภาพการกรองอนุภาค และสมบัติการสะท้อนน้ำ ดังนี้
ระดับที่ 1 ป้องกันฝุ่นได้พอใช้ ไม่ป้องกันละอองฝอย
ระดับที่ 2 ป้องกันฝุ่นได้พอใช้ ไม่ป้องกันละอองฝอย
ระดับที่ 3 ป้องกันฝุ่นได้พอใช้ ไม่ป้องกันละอองฝอย
ส่วนรายการทดสอบที่มีในประกาศข้อแนะนำฯ สามารถส่งหน้ากากอนามัยแบบผ้าทอสอบได้ที่หน่วยงานต่อไปนี้
- การทดสอบประสิทธิภาพการกรองฝุ่นอนุภาคขนาด 3 ไมครอน และความแตกต่างของความดัน ทดสอบได้ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา โทร. 082-7828088
- การสะท้อนน้ำ และปริมาณฟอร์แมลดีไฮด์ ทดสอบได้ที่ กรมวิทยาศาตร์บริการ โทร. 02-2017162 หรือสถาบันสิ่งทอ โทร. 02-7135492-9 ต่อ 541
- ปริมาณสีเอโซ ทดสอบได้ที่ สถาบันสิ่งทอ โทร. 02-7135492-9 ต่อ 541
ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์บริการให้การรับรองผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัยแบบผ้าตามประกาศข้อแนะนำฉบับนี้ ผู้ที่สนใจขอการรับรองผลิตภัณฑ์สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call center 02-201 7000 และ 02-201 7341
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.