สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) ชี้แจงกรณีมีรายงานการตรวจพบกัมมันตภาพรังสีในสิ่งแวดล้อมที่สูงกว่าระดับปกติในธรรมชาติที่ประเทศสวีเดน ฟินแลนด์ และนอร์เวย์ ซึ่งได้รับการยืนยันแล้วว่ากัมมันตภาพรังสีที่สูงขึ้นนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ ปส. จะใช้เทคโนโลยีการตรวจวัดนิวไคลด์กัมมันตรังสีของเครือข่ายสถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสีทั่วโลกและของสถานีฯ อาร์เอ็น 65 (RN65) ของไทย เฝ้าตรวจติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อความมั่นใจและความปลอดภัยของประชาชนไทย
นางสุชิน อุดมสมพร รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เปิดเผยว่า จากกรณีมีการรายงานผลการตรวจวัดกัมมันตภาพรังสี เมื่อวันที่ 22-23 มิถุนายน 2563 ณ สถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสี อาร์เอ็น 63 (Radionuclide Station, RN63 หรือ SEP63) ของประเทศสวีเดน และพบว่ามีนิวไคลด์กัมมันตรังสีสามชนิด คือ รูทีเนียม-103 (Ru-103) ซีเซียม-134 (Cs-134) และซีเซียม-137 (Cs-137) ในฝุ่นละอองที่สูงกว่าระดับปกติในธรรมชาติ ซึ่งสอดคล้องกับผลการตรวจวัดกัมมันตภาพรังสีในสิ่งแวดล้อมของประเทศฟินแลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน นั้น สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีของไทย ได้ตรวจสอบข้อมูลร่วมกับหน่วยงานระหว่างประเทศเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว และขณะนี้มีการยืนยันแล้วว่ากัมมันตภาพรังสีที่สูงขึ้นนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยค่ารังสีที่สูงขึ้นมาจากกิจกรรมทางนิวเคลียร์และรังสี (ทางพลเรือน) เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เท่านั้น ในส่วนแหล่งที่มาของนิวไคลด์กัมมันตรังสีทั้งสามชนิดดังกล่าวยังไม่สามารถระบุได้ ด้านองค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty Organization, CTBTO) คาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมาจากประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ได้แก่ เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน (ตอนใต้) ฟินแลนด์ ประเทศกลุ่มบอลติก (เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิธัวเนีย) และรัสเซีย (ตะวันตก)
นางสุชิน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกรณีดังกล่าว ปส. ได้ดำเนินการตรวจสอบกัมมันตภาพรังสีของซีเซียม-137 (Cs-137) ณ สถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสี อาร์เอ็น65 (RN65) ของประเทศไทย เพื่อยืนยันความปลอดภัยอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งพบว่าอยู่ในระดับปกติ และตรวจไม่พบรูทีเนียม-103 (Ru-103) และซีเซียม-134 (Cs-134) ในช่วงเวลาดังกล่าวเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ปส. พร้อมเฝ้าระวังและตรวจติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเพื่อความมั่นใจและความปลอดภัยของประชาชนไทย
ทั้งนี้ ประเทศไทย ได้ทำการจัดตั้งสถานีเฝ้าตรวจ จำนวน 2 สถานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบเฝ้าตรวจระหว่างประเทศ (International Monitoring System, IMS) และศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ จำนวน 1 ศูนย์ ภายใต้สนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty, CTBT) ซึ่งประกอบไปด้วย
1. สถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสี อาร์เอ็น 65 (Radionuclide Station; RN65) ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ภายใต้การดำเนินงานของ ปส.
2. สถานีตรวจวัดความสั่นสะเทือนของพิภพ พีเอส 41 (Primary Seismic Station; PS41) ณ สถานีวัดความสั่นสะเทือน จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้การดำเนินงานของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ
3. ศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ เอ็น 171 (National Data Center; NDC N171) ภายใต้การดำเนินงาน ของ ปส.
นอกจากนี้ ปส. ยังได้ดำเนินงานและประสานงานข้อมูลต่าง ๆ ร่วมกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency : IAEA) และ CTBTO อย่างใกล้ชิดสม่ำเสมอ ประชาชนจึงสามารถมั่นใจในความปลอดภัยและมาตรการการกำกับดูแลความปลอดภัย การเฝ้าระวัง ติดตาม และตรวจวัดกัมมันตภาพรังสีและระดับรังสีในสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมตลอด 24 ชั่วโมง
หากต้องการรับทราบข้อมูลอัตราปริมาณรังสี สามารถติดตามได้ที่ http://www.oap.go.th/offices/tech-support/btssr-monitoring หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองพัฒนาระบบและมาตรฐานกำกับดูแล ความปลอดภัย สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทรศัพท์ 0 2596 7600 ต่อ 1419 และ 1420
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.