(7 มิถุนายน 2562) กรุงเทพฯ : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะหน่วยงานหนึ่งของภาคีเครือข่ายภายใต้แผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (Genomics Thailand) ปี 2563 - 2567 ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดประชุม “Genomics Thailand Inception Workshop” เพื่อเผยแพร่แผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย พร้อมหารือแนวทางดำเนินงานและเป้าหมายที่ชัดเจนของกรอบงานวิจัยด้านจีโนมิกส์ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านโรคมะเร็ง โรคที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและโรคหายาก โรคไม่ติดต่อและการศึกษาในกลุ่มประชากรแบบระยะยาว โรคติดเชื้อ และเภสัชพันธุศาสตร์ อันจะนำไปสู่แผนยุทธศาสตร์การทำงานด้านการวิจัยของประเทศที่ชัดเจนต่อไป โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตลอดจนผู้แทนมหาวิทยาลัยแพทย์ชั้นนำ องค์กรของรัฐ และหน่วยงานเอกชนกว่า 250 คนเข้าร่วมประชุม
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางการแพทย์หลายด้าน ข้อมูลพันธุกรรมได้ถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์ ร่วมกับข้อมูลสุขภาพอื่นๆ ในการตรวจวินิจฉัย ป้องกัน และรักษาโรค ทำให้การรักษามีความแม่นยำและจำเพาะต่อบุคคลมากขึ้น ถือเป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับการรักษาพยาบาล ที่เปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุขครั้งใหญ่ของประเทศ และเพื่อเตรียมความพร้อมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการแพทย์แบบครบวงจรของภูมิภาค (Medical Hub) รวมถึงสนับสนุนให้ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมการแพทย์บริการในระบบสาธารณสุขของประเทศ ภายใต้แผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย โดยรัฐบาลจะสนับสนุนให้เกิดการวิจัยด้านการแพทย์ระดับจีโนม เพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม รวมถึงผลักดันให้เกิดบริการทางการแพทย์ ที่ส่งเสริมให้ประเทศมีขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีจีโนมสำหรับให้บริการประชาชน สร้างตำแหน่งงานที่ใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมและชีวสารสนเทศ และสร้างโอกาสแข่งขันให้กับประเทศตามแนวนโยบาย Thailand 4.0
“การแพทย์ระดับจีโนมจะเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและลดรายจ่ายด้านสุขภาพของประเทศ เป็นการขยายโอกาสในการแข่งขันกับอารยประเทศ เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นผู้นำในการให้บริการทางการแพทย์แบบครบวงจรในภูมิภาค การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นก้าวแรกของแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย ในการสื่อสารเจตนารมณ์ของแผนฯ สู่ แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และนักวิจัยของประเทศไทย เพื่อก้าวไปสู่ความร่วมมือกันในการพัฒนาด้านการวิจัย การให้บริการทางการแพทย์บนพื้นฐานการแพทย์จีโนมิกส์ การให้บริการการแพทย์และการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานดีขึ้น และประชาชนของประเทศสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน”
ด้าน รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการถอดรหัสพันธุกรรมในประชากรขนาดใหญ่มีการดำเนินการแล้วในหลายประเทศ ผลลัพธ์จากโครงการคือ ฐานข้อมูลทางพันธุกรรมขนาดใหญ่ ที่นักวิจัยสามารถเข้าถึง เพื่อนำไปศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพันธุกรรมของมนุษย์ รวมถึงหาสาเหตุของโรค เพื่อนำมาสู่การพัฒนาวินิจฉัย และแนวทางป้องกันรักษา ช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาหายและทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น รวมถึงเปลี่ยนแนวคิดและแนวทางให้บริการทางการแพทย์แบบใหม่ที่ใช้ข้อมูลทางพันธุกรรม ที่มีความจำเพาะกับผู้ป่วยมากขึ้น และเป็นการรักษาแบบป้องกันก่อนที่จะเกิดโรค
“ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการศึกษาวิจัยด้านการแพทย์ระดับพันธุกรรมในคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทำให้เกิดความรู้พื้นฐานของโรคที่มีปัจจัยทางพันธุกรรมเกี่ยวข้อง มีกลุ่มตัวอย่างและข้อมูลทางคลินิกอยู่ระดับหนึ่ง อีกทั้งยังมีการริเริ่มสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเก็บข้อมูลทางพันธุกรรม และความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลระดับจีโนมซึ่งเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ดำเนินการโดย สวทช. ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้เตรียมความพร้อมที่จะศึกษาและนำข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์มาประยุกต์ใช้ทางการรักษา และวิจัยต่อยอดทางการแพทย์ โดยความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมภาคีเครือข่าย ในการจัดทำแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (Genomics Thailand) ปี พ.ศ. 2563 - 2567 ภายใต้ยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 เพื่อขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาด้านการแพทย์แม่นยำในประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการแพทย์จีโนมิกส์ระดับอาเซียนภายใน 5 ปี และประชาชนไทยสามารถเข้าถึงบริการด้านการแพทย์จีโนมิกส์อย่างมีคุณภาพ โดยแผนฯ ดังกล่าว ได้รับมติเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 และได้รับอนุมัติงบประมาณในการดำเนินการวงเงิน 4,470 ล้านบาท”
ทั้งนี้ งานประชุม “Genomics Thailand Inception Workshop” ประกอบด้วยกิจกรรมในช่วงเช้าเป็นการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์แผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย และช่วงบ่ายเป็นการอภิปรายกลุ่มย่อยระหว่างนักวิจัยด้านจีโนมิกส์ เพื่อกำหนดเป้าหมายงานของกรอบงานวิจัยด้านจีโนมิกส์ของประเทศ รวมถึงสร้างเครือข่ายการวิจัย และเปิดโอกาสให้นักวิจัยและผู้เกี่ยวข้องร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น อันจะนำไปสู่แผนยุทธศาสตร์การทำงานด้านการวิจัยของประเทศที่ชัดเจนต่อไป
เกี่ยวกับจีโนมิกส์
จีโนมิกส์ (Genomics) คือศาสตร์ที่ศึกษาค้นคว้าหากลุ่มยีน หรือพันธุกรรมของเซลล์สิ่งมีชีวิต เพื่อหารูปแบบการจัดเรียงตัว/จัดกลุ่มของดีเอ็นเอ การทำงานของยีน ความสัมพันธ์ระหว่างยีน และความสัมพันธ์ของยีนกับสิ่งแวดล้อม จีโนมิกส์จะช่วยให้เข้าใจกลไกของสิ่งมีชีวิตอย่างละเอียดลึกซึ้ง ทางการแพทย์ใช้ศึกษาวิจัยเรื่องการแสดงออกของยีนก่อโรค เช่น โรคมะเร็งต่างๆ อัลไซเมอร์ เบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ/อุดตัน เป็นต้น
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.