สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research Expo 2020)” ครั้งที่ 15 ชู 3 ผลงานเด่นรับวิถีวิตใหม่ - นิวนอร์มัล
“การวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับโรคโควิด-19” พร้อมจัดแสดงอย่างเป็นทางการ 2 - 6 สิงหาคม ศกนี้
ที่ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ” เป็นประจำทุกปี ต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2549 ด้วยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยในปีนี้ได้จัด “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research Expo 2020)” ขึ้นเป็นปีที่ 15 ระหว่างวันที่ 2 -6 สิงหาคม 2563 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ในปีนี้จัดงานแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมจำนวนกว่า300 ผลงานในรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ “นิวนอร์มัล” จากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) โดยเพิ่มมาตรการคัดกรองผู้เข้าชมงานและนิทรรศการอย่างเข้มงวด ตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งผู้เข้าร่วมงานต้องลงทะเบียนร่วมงานล่วงหน้าทางเว็บไซต์ก่อนเท่านั้นที่ www.researchexpo.nrct.go.th และ www.nrct.go.th ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31กรกฎาคม ศกนี้ และ ไม่อนุญาตให้เข้าชมงานแบบ Walk In ทุกกรณี สำหรับผู้ที่พลาดการลงทะเบียน ติดตามชมงานและร่วมประชุม-สัมมนาออนไลน์ได้ทุกหัวข้อ ที่เว็ปไซต์ดังกล่าวข้างต้น และในปีนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิดงาน ในวันอังคารที่ 4 สิงหาคม 2563 เวลา 10.00 น.
การจัดงานมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ กระจายโอกาสการเข้าถึงข้อมูลความรู้ การวิจัยและนวัตกรรมตามนโยบายของรัฐบาล และขยายผลสู่การใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีนี้มีโรคอุบัติใหม่ การระบาดของโรคโควิด-19 อย่างแพร่หลายทั่วโลก เป็นโอกาสและความท้าทาย ที่ประชาคมวิจัยคนไทยได้รวมพลังสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ การจัดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติในครั้งนี้ จึงเป็นกลไกหนึ่งในการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้มีการ “รวมพลคนวิจัย สู้ภัยโควิด-19” ด้วยวิจัยและนวัตกรรม จึงได้มีการมุ่งเน้นความก้าวหน้างานวิจัยของประเทศด้านโควิด-19 ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
1. การพัฒนาวัคซีน COVID-19
ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องวัคซีนเป็นอย่างมาก โดยนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีมติสั่งการให้ประเทศไทยดำเนินการเรื่องวัคซีนอย่างรวดเร็ว เพื่อคนไทยจะได้ใช้วัคซีน COVID-19 เป็นลำดับแรกๆ ในเวลาใกล้เคียงกับประเทศชั้นนำของโลก ซึ่งทั่วโลกกำลังวิจัยและพัฒนาประมาณ 200 แบบ ในส่วนการวิจัย วช. และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ร่วมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านวัคซีน COVID-19 แล้ว 7 โครงการทั่วประเทศ ซึ่งมีวิธีการและเทคโนโลยีต่างกัน โดยมีเป้าหมายและวิธีดำเนินงานสอดคล้องกัน เพื่อให้แน่ใจว่าประเทศไทยจะมีวัคซีนพร้อมใช้ได้
2. อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE)
นอกจากนี้ยังมมีงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ ลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ สร้างนวัตกรรมทางเลือกด้วยฝีมือคนไทย โดยได้พัฒนาอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ที่ใช้ได้แล้ว รวมทั้งมีมาตรฐานและสามารถผลิตได้จำนวนเพียงพอมาจัดแสดงจำนวน 3 นวัตกรรม ที่จะนำมาจัดแสดงภายในงาน ได้แก่
1) นวัตกรรมชุด PPE (Isolation Gown) รุ่น “เราสู้” พัฒนาโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา องค์การเภสัชกรรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์บริการ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรม สิ่งทอ และผู้ประกอบการผลิตอีก 13 บริษัท ซึ่งมีการผลิตล็อตแรกแล้ว 44,000 ชุด ใช้ซ้ำโดยซักได้ 20 ครั้ง สามารถทดแทนชุดแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้กว่า 800,000 ชุด
2) หน้ากากผ้านาโน (Win-Masks Washable Innovative Nano Masks) ซึ่งเป็นหน้ากากนาโนสะท้อนน้ำ สามารถซักได้ 30 ครั้ง และป้องกันหรือกรองฝุ่นละอองฝอยขนาด 5 ไมครอนได้ รวมถึงป้องกันการซึมผ่านของละอองฝอยเสมหะ หรือสารคัดหลั่งที่เป็นของเหลว ซึ่งขณะนี้มีการผลิตและส่งมอบแก่โรงพยาบาลต่างๆในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศแล้ว จำนวน 207,000 ชิ้น เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่บุคลากรทางการแพทย์
3) หน้ากากแรงดันบวก (Powered air-purifying respirator, PAPR) โดยทีมนักวิจัยไทยกลุ่มสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย และคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ซึ่งเป็น การพัฒนาหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะชนิดมีพัดลมพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูงใช้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเป็นหน้ากากที่มีแรงดันบวกภายในหน้ากากประมาณ 3 - 7 ปาสคาล วัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ เช่น หมวก ผ้า สายซิลิโคน พัดลมดูดอากาศ โดยได้ผลิตใช้แล้วจำนวนมากกว่า 3,000 ชุด
นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยในมิติต่างๆอาทิ ชุดตรวจวินิจฉัย COVID-19 พร้อมจัดแสดงชุดตรวจวินิจฉัย COVID-19 ในหลากหลายเทคนิควิธีการ ที่นักวิจัยได้ส่งต่อผลงานเพื่อสู่ขั้นตอนการผลิตร่วมกับบริษัทเอกชนให้สามารถนำสู่ตลาดและใช้งานได้จริง อาทิ ชุดตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อประเภท RT-PCR แบบมาตรฐานสากล ซึ่งพัฒนาโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และบริษัทสยามไบโอไซน์ จำกัด โดยมีกำลังการผลิต 100,000 ชุดต่อเดือน ชุดตรวจเสริมแบบได้ผลรวดเร็ว ประเภท LAMP พัฒนาโดยคณะเวชศาสตร์เขตร้อน คณะวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อใช้ทางระบาดวิทยา เป็นชุดตรวจแบบรวดเร็ว ด้วยเทคโนโลยี lateral flowimmunoassay ทำให้สามารถตรวจจับแอนติบอดีที่จำเพาะต่อไวรัส SARS-CoV-2 ในเลือด ทราบผลอย่างรวดเร็ว พัฒนาโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เป็นต้น
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีงานวิจัยอื่นๆ ที่จะส่งเสริม พัฒนาและแก้ไขปัญหาให้กับทุกภาคส่วนอย่างครบมิติอีกกว่า 300 ผลงาน อาทิ หุ่นยนต์เก็บขยะจากผิวน้ำ/ การออกแบบบรรจุภัณฑ์น้ำผึ้ง การแก้ปัญหาช้างป่าในประเทศไทย/ โครงการเภสัชอาสาพาชุมชนยั่งยืน/ อาหารและเครื่องดื่มหมักจากข้าวมอลต์แดง/ การพัฒนาเส้นใยกล้วยในงานแฟชั่นเครื่องแต่งกายและสิ่งทอ/ ผลงานการสร้างนวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ประเภทขนมหวานพื้นเมืองเพื่อสุขภาพ จ.เพชรบุรี/ เครื่องสูบน้ำพลังเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อกู้วิกฤตชุมชน เพื่อแก้ปัญหาเรื่อง “น้ำ” ให้เกษตรกรที่อยู่ห่างไกลระบบสายส่งกำลังไฟฟ้าและเขตชลประทาน/ ผลงานจากฟางข้าวสู่ผลิตภัณฑ์ย่อยสลาย ฯลฯ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.