13 กันยายน 2562 : ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมหารือพร้อมมอบนโยบาย ให้กับที่ประชุมคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์กลุ่มมหาวิทยาลัยดั้งเดิมของรัฐ 16 สถาบัน + 7 สถาบัน ณ ห้องประชุมคณะกรรมการบริหารคณะครุศาสตร์ อาคารพระมิ่งขวัญการศึกษาไทย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กล่าวตอนหนึ่งว่า การเรียนรู้ในอนาคตนั้นโรงเรียนจะเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นแต่ไม่เพียงพอในการเรียนรู้สำหรับเด็กอีกต่อไป ความสำคัญของโรงเรียนจะค่อยๆ ลดลง ในขณะเดียวกันความสำคัญของรูปแบบการเรียนรู้ พื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โลกในอนาคตจะเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน นอกโรงเรียนและนอกระบบเป็นหลัก เราจะสร้างครูอย่างไรเพื่อให้ครูไปสร้างเด็กที่จะเป็นกำลังหลักของชาติในอนาคต ภายใต้สิ่งแวดล้อมใหม่ ซึ่งมีความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน
วงจรของกระบวนการเรียนรู้ในอนาคตจะเริ่มจากการกระตุ้นให้เด็กเกิดความอยากรู้อยากเห็น มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโลกจริงหรือโลกเสมือน (exploring) เพื่อนำสู่ความรู้ที่แท้จริง ที่เกิดจากการทดลอง ทดสอบในสิ่งต่างๆ (experimenting) ทำให้เด็กเกิดประสบการณ์จริง (experience) เกิดความรักในสิ่งนั้น รู้ลึก รู้กว้าง เด็กในอนาคตจะเป็นทั้งผู้เรียนและผู้สอนในเวลาเดียวกัน ต้องมีพื้นที่ในการเรียนรู้ร่วมกัน และเมื่อมีประสบการณ์แล้วจะต้องรู้จักการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น (exchanging) นี่คือวงจรที่จะเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้น ครูในศตวรรษที่ 21 ต้องเข้าใจโลก เข้าใจชีวิต เข้าใจกระบวนการเรียนรู้
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เกิดขึ้นมาเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้าง 3 เรื่อง คือ 1. การสร้าง smart citizen 2. การสร้าง value base economy และ 3. การสร้าง innovative nation จะต้องปลูกฝังวัฒนธรรมการสร้างนวัตกรรมตั้งแต่เด็ก ต้องเรียนเพื่อสร้างนวัตกรรม ครูต้องกล้าให้เด็กได้ลองผิดลองถูก เพื่อให้เกิดประสบการณ์ ให้เด็กได้ทำในสิ่งที่ชอบ ได้ปลดปล่อยความฝันให้ออกมาเป็นรูปธรรมในอนาคต ทำให้เด็กมีความฝันที่ยิ่งใหญ่ เขาจะเกิดความทุ่มเทและสามารถที่จะปลดปล่อยศักยภาพในตัวเองออกมาได้ เราต้องการให้เด็กไทยถูกสร้างขึ้นมาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์คือการที่มี Head คือ มีสมอง Hand คือ มีทักษะ Health คือ มีสุขภาพจิต สุขภาพกายที่ดี และ Heart คือ มีจิตใจที่งดงาม หน้าที่ของครู คือการบูรณาการทั้งหมดให้กลายเป็น Habit of mind ให้แก่เด็ก ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 21
หน้าที่ของครูในอนาคตคือต้อง ทำให้เด็กเกิดความเป็นตน (me in we) และความเป็นคน (we in me) เพื่อให้เขาจะอยู่ได้อย่างมีความสุขในศตวรรษที่ 21 ครูจำเป็นต้องเข้าใจในการสร้างเด็ก ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางความคิด จากสังคมของตัวเอง ไปสู่สังคมของเรา ครูไม่ได้มีหน้าที่สอนแค่วิชาการ ความรู้ หรือเติมเต็มทักษะเพียงเท่านั้น แต่ต้องเปลี่ยนหลักคิดที่ถูกต้องให้แก่เด็กด้วย ให้เด็กมองภาพที่สิ่งแวดล้อมก่อนว่าเราจะอยู่ด้วยกันอย่างมีปกติสุขได้อย่างไร สร้างตัวชี้วัดใหม่อย่างไรบนความหลากหลายของศักยภาพ ความแตกต่างของข้อจำกัด จะต้องสร้างคนที่ทั้งเก่ง ดี มีความสุข และคิดเพื่อคนอื่นในเวลาเดียวกัน ปลูกฝัง we society เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของสังคมที่มีความสุข ความหวัง และความปรองดองอย่างแท้จริง
“เรามีหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคมไทยผ่านการเตรียมพร้อมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 คนเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ต้องเปลี่ยนระบบการเรียนรู้แบบใหม่ กล้าคิด กล้าทำ กล้าเปลี่ยนแปลง เพื่อร่วมกันสร้างหน้าประวัติศาสตร์ใหม่เพื่ออนาคตของประเทศไทย” รมว.อว. กล่าวในตอนท้าย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.