บริบทการเปลี่ยนแปลงของสังคมและการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ส่งผลให้ความต้องการของผู้บริโภคปรับเปลี่ยนตามไปด้วย โดยเฉพาะความต้องการผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ สามารถใช้ได้สะดวก ปลอดภัย ได้มาตรฐานสากล
จากโจทย์ดังกล่าว สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร จึงได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนา “เจลลูกประคบ : Luk Prakob Gel” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่จากสมุนไพรไทย
โดยใช้วิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรที่ใช้ในลูกประคบ ได้แก่ ไพล ขมิ้นชัน มะกรูด ตะไคร้ เป็นต้น แล้วนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ในรูปแบบของเจล เพื่อความสะดวกในการใช้ของผู้บริโภค โดย ผลิตภัณฑ์ยังคงประสิทธิภาพในการรักษาอาการปวดเมื่อย ปวดบวมจากกล้ามเนื้ออักเสบ เคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ เช่นเดียวกับการประคบด้วยลูกประคบสมุนไพร
ทั้งนี้ น้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้จากสมุนไพรรวมในลูกประคบ วว. นำมาศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่า มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยสามารถลดการบวมของหูหนูขาวได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และมีประสิทธิภาพในการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
ผลิตภัณฑ์เจลลูกประคบ ผลงานวิจัย วว. ผ่านการทดสอบความเป็นพิษ ได้แก่ ความเป็นพิษเฉียบพลันทางผิวหนัง และการก่อความระคายเคืองเบื้องต้น โดยพบว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยต่อการนำไปใช้ นอกจากนี้ผลการศึกษาขั้นคลินิกเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของเจลสูตรลูกประคบในการบรรเทาอาการปวดในผู้ป่วยข้อเข่าอักเสบพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยเจลสูตรลูกประคบมีอาการปวดเข่าน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและไม่พบผลข้างเคียงใดๆ
วว.พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต “เจลลูกประคบ” ให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์ สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ Call center วว. โทร. 0 2577 9000 ในวันและเวลาราชการ หรือที่ E-mail : tistr@tistr.or.th
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.