29 กันยายน 2562 : นางสุวรรณี คำมั่น เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง (U-School Mentoring) ประจำปี พ.ศ. 2562 ณ โรงแรมเซนทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการดำเนินโครงการฯ ของสถาบันอุดมศึกษาที่มีผลการดำเนินการดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2562 อีกทั้งได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เกิดจากการดำเนินโครงการฯ ประจำปี พ.ศ. 2562 จากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้บริหารของกระทรวง อว. ผู้บริหารและบุคลากรสถาบันอุดมศึกษา ผู้บริหาร ครูและนักเรียนโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และเครือข่ายอุดมศึกษาภูมิภาค จำนวน 9 เครือข่าย จำนวน 850 คน
เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กล่าวว่า คำว่า “พี่เลี้ยง” เป็นคำสำคัญที่ฝากความหวังไว้กับสถาบันอุดมศึกษาเป็นอย่างยิ่ง บทบาทหลักของสถาบันอุดมศึกษาคือผู้นำทางปัญญา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กล่าวเสมอว่าอุดมศึกษาไม่ใช่มีหน้าที่แค่สร้างบัณฑิต แต่ต้องเป็นผู้จัดการศึกษาตลอดชีวิต พร้อมที่จะเติมความรู้ ปรับความรู้ สร้างองค์ความรู้ใหม่ให้กับสังคมอยู่เสมอ และทั้งยังไปสร้างความเข้มแข็งให้กับการศึกษาประเภทและระดับอื่นๆ ด้วย อุดมศึกษาต้องเสนอทางเลือกแก่สังคมที่มาจากการรู้จริง เมื่อกล่าวถึงการพัฒนาคุณภาพการศึกษานั้น เข้าใจว่าน่าจะหมายถึงทั้งความรู้และคุณธรรมเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นความรู้ที่มาจากการศึกษาค้นคว้า วิจัย อยากให้การวิจัยและการสร้างนวัตกรรมอยู่ในปกติวิสัยของอุดมศึกษาทุกระดับเพื่อให้รู้จริง และนำไปสู่การชี้นำสังคมที่ถูกต้อง
การเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจ สังคม และสถานการณ์สังคมสูงวัย ส่งผลให้การจัดการศึกษาในปัจจุบันต้องปรับเปลี่ยนให้ตอบสนองกับทิศทางการผลิตและการพัฒนากำลังคนที่มุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะในศตวรรษ ที่ 21 เพื่อให้ได้ทั้งความรู้และทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีวิต และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศท่ามกลางกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลมีเป้าหมายในการพัฒนาคนไทยให้มีความพร้อมในการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีแบบแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยรัฐบาลได้กำหนดนโยบายในการพัฒนาที่มุ่งพัฒนาคนในทุกมิติตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงวัยให้มีความสมบูรณ์ เป็นคนดี มีวินัย มีจิตสาธารณะ ซึ่งการเตรียมความพร้อมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 เป็นหน้าที่ในความรับผิดชอบของทุกภาคส่วน โดยกระบวนการหนึ่งในการเตรียมความพร้อม คือ การจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมและเพียงพอ ซึ่งรูปแบบการจัดการเรียนรู้ในอนาคตการเรียนรู้นอกห้องเรียน นอกโรงเรียนและนอกระบบจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
ภาครัฐมุ่งหวังให้ระบบเครือข่ายอุดมศึกษาภูมิภาค จำนวน 9 เครือข่าย โดยการกำกับดูแลของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนและเป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานในระดับพื้นที่ เพื่อตอบโจทย์ให้กับการแก้ไขและพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยวิธีการเชื่อมโยงและถ่ายทอดนวัตกรรม องค์ความรู้ ตลอดจนความเชี่ยวชาญต่าง ๆ จากสถาบันอุดมศึกษาไปสู่โรงเรียนและชุมชน เกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจนอย่างต่อเนื่อง ในด้านศักยภาพครู คือ ได้แนวคิด กระบวนการ เทคนิคการสอนใหม่ ๆ ในการถ่ายทอดความรู้สู่นักเรียน ในด้านผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน ได้ฝึกให้นักเรียนมีคุณธรรมจริยธรรม และคิดเป็นทำเป็น ผ่านเทคนิควิธีการเรียนรู้และกิจกรรมที่หลากหลาย
ดร.อรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กล่าวว่า โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง (U-School ผ่านสถาบันอุดมศึกษาสมาชิกเครือข่ายอุดมศึกษาภูมิภาค 9 เครือข่าย ในการเลือกโรงเรียนเป้าหมาย และกำหนดรูปแบบกิจกรรมการพัฒนาให้สอดคล้องตามความต้องการของโรงเรียน และความเชี่ยวชาญของสถาบันอุดมศึกษา การดำเนินงานที่ผ่านมาก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับโรงเรียน ชุมชน และหน่วยงานในพื้นที่ ครู นักเรียน และสมาชิกในชุมชน ได้รับการเรียนรู้และการพัฒนาร่วมกันผ่านกิจกรรมที่หลากหลายโดยยึดบริบทเชิงพื้นที่ เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ ที่นำไปสู่การแก้ปัญหาและยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานควบคู่ไปกับการพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างเป็นรูปธรรม จากผลสำเร็จของการดำเนินงานจึงทำให้มีจำนวนโรงเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 137 สถาบัน โดยดำเนินกิจกรรมในโรงเรียน จำนวน 2,407 โรงเรียน ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัด สามารถพัฒนาครู จำนวน 18,041 คน และนักเรียนจำนวน 226,592 คน มีกิจกรรมในโครงการฯ 1,142 กิจกรรม โดยแบ่งเป็นประเภทคือ 1)กิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ของเด็กไทย 2)กิจกรรม พัฒนาแหล่งเรียนรู้ในชุมชนโดยความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่ และ 3) กิจกรรมอื่นๆ ตามความต้องการของโรงเรียนและสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะกิจกรรมที่สามารถส่งผลให้โรงเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพการศึกษาได้อย่างรวดเร็วหรือเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เช่น กิจกรรมการผลิตและใช้สื่อเทคโนโลยีและสารสนเทศ (IT) เพื่อการเรียนการสอน
“บทบาทของสถาบันอุดมศึกษาพี่เลี้ยงจึงเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการส่งเสริมกลไกการปฏิรูปการศึกษาเพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษา ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ ให้ขับเคลื่อน เดินหน้า และเกิดผลครอบคลุมในทุกบริบทที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มแข็งและขยายผลไปสู่การปฏิรูปการศึกษาได้อย่างแท้จริง สิ่งสำคัญต่อความสำเร็จของโครงการฯ นี้ คือ การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม (Participation) โดยการบูรณาการการทำงานเชิงรุกอย่างทุ่มเท เสียสละร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและนอกพื้นถิ่น ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษาได้ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม สามารถพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนและท้องถิ่นให้เข้มแข็ง เป็นต้นแบบในการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเห็นผลได้อย่างแท้จริงเพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวเดินหน้าได้อย่างมีคุณภาพและต่อเนื่อง รวมทั้งสามารถมุ่งเข้าสู่เป้าหมายการสร้างสมดุลและยั่งยืนให้เกิดขึ้นจากการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศให้เห็นผลได้ต่อไป” เลขานุการรัฐมนตรีฯ กล่าวในตอนท้าย
ภาพข่าว : วีนัส แก้วประเสริฐ
ภาพวีดีโอ : จรัส เล็กเกาะทวด / วัชรพล วงษ์ไทย
เขียนข่าว/เผยแพร่ : ปราณี ชื่นอารมณ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักอำนวยการ
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ (ด้านการอุดมศึกษา)
ถนนศรีอยุธยา โทร. 0-2039-5606-9 facebook.com/opsmhesi
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.