(6 - 7 พฤศจิกายน 2562) ณ โรงแรมซันธารา เวลเนส รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล จังหวัดฉะเชิงเทรา/ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี (สส.) ร่วมกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในการยกระดับ OTOP ด้วย วทน. (กิจกรรม OTOP สัญจร) พื้นที่เป้าหมายจังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรีและนครนายก เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการโอทอปในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงบรรจุภัณฑ์ให้ตรงตามมาตรฐานความปลอดภัย ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด นอกจากนั้นการจัดงานในครั้งนี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสมัครเข้าโครงการคูปองวิทย์เพื่อโอทอป เพื่อคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ สามารถดำเนินงานตามแนวทาง “คูปองวิทย์เพื่อโอทอป” เข้าสู่กิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วย วทน. ใน 6 ด้าน ได้แก่ วัตถุดิบ กระบวนการผลิต นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ มาตรฐาน บรรจุภัณฑ์และเครื่องจักรในการผลิต พร้อมทั้งให้คำปรึกษาเชิงลึกเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากผู้เชี่ยวชาญ โดยได้รับเกียรติจาก นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (หน.ผตร.อว.) เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย นายประสงค์ คงเคารพธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวต้อนรับ และ ดร.วิสิทธิ์ ล้อธรรมจักร รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวรายงานถึงการดำเนินโครงการ
นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวง อว. กล่าวว่า “กิจกรรม OTOP สัญจร” ในครั้งนี้ พื้นที่เป้าหมาย คือจังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรีและนครนายก ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมฯ ครั้งที่ 3 จากพื้นที่เป้าหมาย ทั้งหมด 6 จังหวัด ซึ่งการพัฒนาผู้ประกอบการและยกระดับสินค้าโอทอปด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นงานที่สำคัญงานหนึ่งของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และเป็นงานสำคัญของรัฐบาลตามแผนงานบูรณาการการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้ร่วมกับเครือข่ายสถาบันการศึกษาและหน่วยงานในสังกัด นำผลงานวิจัยและองค์ความรู้ด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เหมาะสมไปใช้ประโยชน์ผ่านกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์โอทอปให้ได้คุณภาพ มาตรฐานตามที่กฏหมายกำหนดไว้ รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ได้รับการยอมรับ สำหรับการทำการตลาดทั้งในประเทศ และระดับสากล
ในปี 2562 กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้พัฒนาสินค้าโอทอปในแนวทางคูปองวิทย์ เพื่อโอทอปให้กับผู้ประกอบการ จำนวนกว่า 330 สถานประกอบการ ใน 18 จังหวัด ทุกภูมิภาคการพัฒนาตามแนวทางเหล่านี้ มุ่งผลักดันเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการโอทอปเข้าสู่การขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการของลูกค้า การขยายช่องทาง การจัดจำหน่ายและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการต่อยอดธุรกิจของผู้ประกอบการโอทอป รวมถึงได้เตรียมช่องทางการขยายผลด้านการตลาด สำหรับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ และเครือข่ายซึ่งเป็นหน่วยงานและสถาบันการศึกษา มีความพร้อมในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งด้านอาหาร เครื่องดื่ม สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร เทคโนโลยีการพัฒนาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ตลอดจนของใช้ ของประดับตกแต่งและของที่ระลึก ครบทุกประเภทสินค้าโอทอป ที่จะเพิ่มศักยภาพ สร้างความเข้มแข็งในการพัฒนากลุ่มและเครือข่ายชุมชน แบบครบวงจรให้กับท่านผู้ประกอบการ และด้วยการทำงานร่วมกันของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และหน่วยงานภาคีทุกหน่วยงาน จะสามารถยกระดับผู้ประกอบการโอทอป ด้วย วทน. ให้มีความเข้มแข็ง เติบโต และมีนวัตกรรม ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม
นายประสงค์ คงเคารพธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า การพัฒนาอาชีพและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ถือเป็นหนึ่งประเด็นที่จังหวัดให้ความสำคัญมาโดยตลอด รายได้ของประชาชนในพื้นที่ นอกเหนือจากการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมนั้น การส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตสินค้าโอทอปของผู้ประกอบการ ก็เป็นประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน ในพื้นที่ โดยเน้นการพัฒนาสินค้าโอทอปด้วยนวัตกรรม ขายสินค้าอยู่ในชุมชน ที่มาจากการท่องเที่ยว โดยใช้เสน่ห์ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ แปลงเป็นรายได้ ถือเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการอุดมศึกษาฯ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ตลอดจนเครือข่ายพันธมิตรที่มาร่วมจัดแสดงนิทรรศการ ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการโอทอปที่จะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีพร้อมใช้ในการพัฒนาสินค้าโอทอปต่อไป
ด้าน ดร.วิสิทธิ์ ล้อธรรมจักร รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า กิจกรรมโอทอปสัญจรพื้นที่เป้าหมายฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรีและนครนายก จัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน คือวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 สำหรับผู้ประกอบการจากจังหวัดปราจีนบุรีและนครนายก โดยมีผู้ประกอบการจาก 2 จังหวัดเข้าร่วม รวมทั้งสิ้น 105 สถานประกอบการ และวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 สำหรับผู้ประกอบการจากจังหวัดฉะเชิงเทรา มีผู้ประกอบการเข้าร่วม จำนวน 69 สถานประกอบการ กิจกรรมในงานนี้ประกอบด้วย การแนะนำให้ผู้ประกอบการโอทอปที่มาร่วมงาน ได้รู้จักและทราบถึงการบริการของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ผ่านแนวทางคูปองวิทย์เพื่อโอทอป ความสำคัญของมาตรฐานสินค้า และแนวทางการยกระดับโอทอปด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในรูปแบบของการบรรยายและการเสวนา จากวิทยากรของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และการให้คำปรึกษาเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาโอทอป จากเจ้าหน้าที่กระทรวงการอุดมศึกษาฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดสมุทรสงครามและที่ปรึกษาจากสถาบันการศึกษา พร้อมรับสมัครผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งมีการแสดงนิทรรศการตัวอย่างการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนและโอทอป การบริการด้านวิชาการและการให้บริการด้านสินเชื่อและการเงินจากธนาคารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่เข้าร่วม
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.