เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศ จ.ปทุมธานี - สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 1 (สพป.ปทุมธานี เขต 1) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงหน่วยงานเอกชนที่ให้การสนับสนุนคือ มูลนิธินายห้างโรงปูนผู้หนึ่ง จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “แนวทางการจัดการเรียนรู้ Coding ด้วยสถานการณ์ PM2.5” ระหว่างวันที่ 22 - 24 พฤศจิกายน 2562 เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ที่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะกับเยาวชน ผู้สูงอายุ และประชาชนในพื้นที่ พร้อมสร้างความตระหนักและความรู้ความเข้าใจเรื่องสถานการณ์ PM2.5 ให้แก่บุคคลในพื้นที่ ด้วยการนำรูปแบบการเรียนรู้ที่ทันสมัยเรื่องโค้ดดิ้ง (Coding) กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเรื่องค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน มาใช้เป็นแนวทางจัดการเรียนการรู้ในห้องเรียน จะส่งผลให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้ได้มากยิ่งขึ้น
โดยมีปลัดอาวุโสอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 1 ตลอดจนวิทยากรจาก ม.ธรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ผู้บริหารโรงเรียน และครูผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 162 คน จากโรงเรียน สังกัด สพป.ปทุมธานี เขต 1 จำนวน 103 โรงเรียน
นายบุญเลิศ เนตรขำ ปลัดอาวุโสอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ประธานในพิธีกล่าวเปิดการอบรมว่า “การอบรมเชิงปฏิบัติเรื่อง แนวทางการจัดการเรียนรู้ Coding ด้วยสถานการณ์ PM2.5 เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 1 (สพป.ปทุมธานี เขต 1) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงหน่วยงานเอกชนที่ให้การสนับสนุน คือ มูลนิธินายห้างโรงปูนผู้หนึ่ง นับเป็นความร่วมมือกันในระดับหน่วยงานเพื่อการพัฒนาและส่งเสริมทางการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจังหวัดปทุมธานี “ผมตระหนักเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้บริหารโรงเรียน และคุณครูทุกท่านเป็นบุคคลที่มีความตั้งใจ และเสียสละ ในการปฏิบัติงานเป็นอย่างยิ่ง มีปณิธานเดียวกันที่ต้องการให้นักเรียนเป็นคนดี คนเก่ง มีความสุข ก้าวทันโลกในศตวรรษที่ 21 เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี เป็นกำลังสำคัญที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต ดังนั้น การเตรียมความพร้อมให้กับเด็กในเรื่อง การคิดอย่างเป็นตรรกะ การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ และกระบวนการคิดอย่างมีเหตุและผล จะเป็นการสร้างรากฐานสำคัญของชีวิต และ จะนำไปสู่การดำรงชีวิตอย่างมีความสุขในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำรูปแบบการเรียนรู้ที่ทันสมัย เรื่อง โค้ดดิ้ง (Coding) กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เรื่อง ค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน มาใช้เป็นแนวทางจัดการเรียนการรู้ในห้องเรียน จะส่งผลให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้ได้มากยิ่งขึ้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้นำความรู้กลับไปติดอาวุธทางปัญญาให้กับนักเรียน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้เกิดความมั่นคง และยั่งยืนต่อไปในอนาคต”
ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า จากที่กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560 ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เป็นรายวิชาพื้นฐาน โดยที่สาระที่ 4 เทคโนโลยี ในส่วนที่เรียกว่า “วิทยาการคำนวณ” ให้เรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็นวิชาที่มุ่งเน้นการเรียนการสอนให้เด็ก 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 การคิดเชิงคำนวณ ส่วนที่ 2 ความรู้พื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และ ส่วนที่ 3 การรู้เท่าทันสื่อและข่าวสาร ซึ่งไม่จำกัดอยู่เพียงแค่การคิดให้เหมือนคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่จะเป็นกระบวนการความคิดเชิงวิเคราะห์เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาของมนุษย์ โดยเป็นการสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานและแก้ไขปัญหาตามที่เราต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ในส่วนที่ 1 เรื่องการคิดคำนวณ ได้นำเรื่องโค้ดดิ้ง (Coding) ซึ่งเป็นทักษะสำคัญต่อการดำรงชีวิตในอนาคต มาเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ ซึ่งการโค้ดดิ้ง หรือโปรแกรมมิ่ง เป็นการใช้คำสั่งคอมพิวเตอร์สร้างลำดับการทำงานเพื่อการประยุกต์ในงานด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังเกี่ยวโยงกับการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เพื่อกิจกรรมการแก้ปัญหาในชีวิต ความรู้เกี่ยวกับวิทยาการคำนวณจึงเกี่ยวข้องกับกระบวนการคิด แก้ปัญหา เหมือนเป็นการสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ หรือภาษาโค้ดดิ้งนั่นเอง ประกอบกับพื้นที่จังหวัดปทุมธานีได้ประสบกับปัญหาสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินมาตรฐาน สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ทั้งด้านสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวัน กับเยาวชน ผู้สูงอายุ และประชาชนในพื้นที่
แนวทางการแก้ไขปัญหาหนึ่งคือการสร้างความตระหนักและความรู้ความเข้าใจเรื่องสถานการณ์ PM2.5 ผ่านการเรียนรู้เรื่อง โค้ดดิ้งเพื่อวัดค่า PM2.5 การทดสอบและเปรียบเทียบเครื่องฟอกอากาศที่สามารถสร้างได้เอง ต่อยอดสู่การเรียนรู้ในชั้นเรียน รวมถึงในการฝึกอบรมยังใช้สื่อการเรียนโค้ดดิ้ง (Coding) ผ่านบอร์ดสมองกลฝังตัวที่พัฒนาจากนักวิจัย สวทช. เรียกว่า บอร์ดคิดส์ไบร์ท (KidBright) ร่วมกับบอร์ดเสริมที่พัฒนาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรียกว่า บอร์ด GoGo Board อีกด้วย”
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.