รถห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ กรณีฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีเข้าประจำการ ณ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) พร้อมสนับสนุนการตอบโต้และประเมินสถานการณ์กรณีฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ตลอด 24 ชั่วโมง
ภายในรถปฏิบัติการ ประกอบด้วย ห้องศูนย์บัญชาการ ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ตัวอย่างในพื้นที่เกิดเหตุ ห้องระบบสื่อสารที่ทันสมัยระหว่างพื้นที่เกิดเหตุกับศูนย์บัญชาการ ตลอดจนห้องเก็บอุปกรณ์และเครื่องมือทางรังสี ซึ่งมีเครื่องมือและอุปกรณ์ครบครัน อาทิ เครื่องวัดปริมาณรังสีเพื่อตอบโต้เหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี เครื่องค้นหาและระบุชนิดวัสดุกัมมันตรังสี เครื่องมือวัดกัมมันตภาพรังสีในสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยพร้อมปฏิบัติงาน ได้แก่ หุ่นยนต์ประเมินระดับรังสีและเก็บกู้วัสดุกัมมันตรังสี อากาศยานไร้คนขับประเมินผลกระทบทางรังสี และระบบชำระล้างการเปรอะเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสี
ปส. มีความพร้อมและขีดความสามารถในการตอบสนองเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีของประเทศด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ อันจะทำให้สถานการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็วและเกิดความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน ประชาชน และสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ หากเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี หรือประชาชนพบวัสดุต้องสงสัยที่คาดว่าจะมีวัสดุกัมมันตรังสีอยู่ภายใน หลักการเบื้องต้นให้สังเกตลักษณะภายนอกว่ามี “สัญลักษณ์รังสี” ที่มีลักษณะเป็นรูปใบพัดสามแฉกสีม่วงแดงหรือสีดำบนพื้นสีเหลือง หรือไม่ และห้ามแตะต้องวัสดุนั้น พร้อมแจ้งมายัง ปส. ที่โทรศัพท์สายด่วน 1296 ตลอด 24 ชั่วโมง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.