ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธานบริษัท อินฟอร์มาร์ มาร์เก็ต (ประเทศไทย) จำกัด นางนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการสายงานพัฒนาและนวัตกรรม สำนักส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน “CPhI South East Asia 2020” งานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีด้านส่วนผสมยาและสารสกัดจากธรรมชาติ กระบวนการผลิต รวมถึงจัดการประชุม สัมมนา และกิจกรรมต่างๆ ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 4 - 6 มีนาคม 2563 ณ ชาเลนเจอร์ 1 อิมแพคเมืองทองธานี เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในอาเซียนได้เรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมยาจากทุกมุมโลกอย่างใกล้ชิด และยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพการผลิตของอุตสาหกรรมยา อันเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medeical Hub) ของประเทศไทย โอกาสนี้ ผู้ว่าการ วว. ร่วมเวทีเสวนาหัวข้อเรื่อง “การพัฒนาอุตสาหกรรมด้านสุขภาพของไทยและภาพรวมการจัดงานฯ” โดยมี นายวิรัช จันทรา รองผู้ว่าการกลุ่มบริการอุตสาหกรรม วว. นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. ร่วมเป็นเกียรติ ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ห้องบอลรูมซี โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลลาดพร้าว
ผู้ว่าการ วว. กล่าวถึงบทบาทของ วว. ในงาน “CPhI South East Asia 2020” ว่า วว. จะโชว์ผลงานวิจัย พัฒนาและบริการใน 2 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย การจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยพัฒนาบริการ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่มีศักยภาพในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการไทย ทั้งในเวทีภายในประเทศและต่างประเทศ และการจัดสัมมนานานาชาติในประเด็นที่สำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ดังนี้
วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ศนส.) จะจัดแสดงผลงานวิจัยพัฒนาด้านสมุนไพร ในส่วนของนงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ แสดงนิทรรศการด้านยาและสมุนไพรอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ใน Theme สารสกัดสำคัญ (ingredient) จากสมุนไพรไทยและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ 1.ขิง ต้านอาเจียน 2.มะตูม ต้านเบาหวาน 3.กระชาย บำรุงร่างกาย/ต้านการอักเสบ และ 4.กะทกรก บรรเทาโรคพาร์กินสัน นำเสนอครอบคลุมกระบวนการทำงานวิจัย ตั้งแต่เริ่มต้นการเตรียมพืชสมุนไพรตลอดจนการสกัดสารสกัด การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการตรวจวัด/ศึกษาประสิทธิภาพหรือความเป็นพิษด้วยเซลล์และสัตว์ทดลอง ด้วยเครื่องมือถ่ายภาพเซลล์ รวมทั้งการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบเซลล์ 3D skin/สัตว์ทดลอง นอกจากนี้ยังจะมีการจัดสัมมนานานาชาติ หัวข้อเรื่อง “Multi-functions of herbal medicine on NCDs” ในวันที่ 4 มีนาคม 2563 โดยมีเนื้อหาประกอบด้วย 1.การขึ้นทะเบียนยาพัฒนาจากสมุนไพร 2.การพัฒนายาสมุนไพรเพื่อบรรเทาโรคพาร์กินสัน 3.โสมอินเดียกับการต้านมะเร็ง 4.Propolish จากขี้ผึ้ง และ 5.กระบวนการขออนุญาตในงานวิจัยกัญชา
“…ปัจจุบันการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุและสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดโรคอุบัติใหม่มากขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายให้กับวงการแพทย์ในการรักษาโรค ทั้งนี้สมุนไพรหลายชนิดที่เป็นองค์ความรู้สืบทอดจากบรรพชน สามารถนำมาใช้ดูแลสุขภาพและรักษาโรคได้ การวิจัยพัฒนาเพิ่มมูลค่าสมุนไพรเหล่านั้นด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการนำสมุนไพรมาใช้ทดแทนยาเคมีที่ได้จากการสังเคราะห์ ซึ่งจะรักษาอาการของโรคได้เพียงอาการเดียวและยังก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นพิษตามมา การสัมมนาฯ เกี่ยวกับสมุนไพรของ วว. ในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีศึกษาโสมอินเดียกับการต้านมะเร็ง ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญชาวอินเดีย คือ Dr.Sunil KAUL ที่จะมาถ่ายทอดความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เกี่ยวกับการวิจัยประสิทธิภาพของโสมอินเดีย (Aswagandha) พร้อมทั้งปริมาณสารสำคัญ กลไกการป้องกันและรักษาโรคต่างๆ ทั้งนี้โสมอินเดียเป็นสมุนไพรยอดนิยมในตำราอายุรเวทของอินเดีย และเป็นที่รู้จักได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยพบว่าสามารถรักษาโรคได้แบบองค์รวมและมีคุณสมบัติช่วยปรับสมดุลร่างกาย ทั้งนี้งานวิจัยพบว่าโสมอินเดียมีประสิทธิภาพช่วยเพิ่มการทำงานของสมอง ระบบสืบพันธุ์ ระบบภูมิคุ้มกันของเซลล์ และช่วยเพิ่มการป้องกันของร่างกายต่อโรคต่างๆ นอกจากนี้ยังพบว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านมะเร็งและต้านข้ออักเสบ… ” ผู้ว่าการ วว.กล่าว
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ วว. โดยศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย (ศบท.) จะเข้าร่วมจัดการสัมมนานาชาติ หัวข้อเรื่อง “Seminar on Innovative Packaging for Pharmaceutical and Herbal Products” ในวันที่ 5 มีนาคม 2563 โดยมีจุดเชื่อมโยงการจัดสัมมนาฯ สืบเนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นเพื่อให้สอดรับหรือเตรียมความพร้อมกับสังคมผู้สูงอายุ วว. โดย ศบท. อยู่ระหว่างดำเนินโครงการบรรจุภัณฑ์สะดวกเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดย นางบุษกร ประดิษฐนิยกูล นักวิจัยอาวุโส ศบท. บรรยายในฐานะผู้แทน วว. ในหัวข้อ “Packaging Status for the Elderly in Thailand” เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสถานภาพและความต้องการบรรจุภัณฑ์ของผู้สูงอายุ ซึ่งได้รวบรวมมาไว้เป็นข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ เช่น ขนาดบรรจุที่เล็กลง มีตัวอักษรขนาดใหญ่ อ่านเห็นได้โดยชัดเจน จับถนัดมือ ปิด-เปิดได้โดยง่าย และสะดวกในการใช้งาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์ยาจากต่างประเทศ คือ Dr.Kiyomi Sadamoto จาก Division of Clinical Pharmacy, Yokohama University of Pharmacy ประเทศญี่ปุ่น จะมาบรรยายและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในหัวข้อ “Senior Friendly Packaging for Pharmaceutical Products” และ Mr. Chakravarthi AVPS, Global Ambassador จาก World Packaging Organisation (WPO) จะมาร่วมบรรยายในหัวข้อ “Trends and Innovations in Pharmaceutical Packaging” ด้วย
ผู้ว่าการ วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการจัดสัมมนาฯ ดังกล่าวแล้ว วว ยังนำผลงานวิจัยและพัฒนาร่วมจัดแสดงนิทรรศการด้านบรรจุภัณฑ์ในส่วนของนิทรรศการ "InnoPack" ที่นำเสนอนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์อันทันสมัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับบรรจุภัณฑ์ยาและสมุนไพรให้มีมาตรฐาน มีความสวยงามดึงดูดใจ เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าและสร้างความแตกต่าง ตลอดจนช่วยส่งเสริมการขายสินค้า ซึ่งแต่เดิมบรรจุภัณฑ์สมุนไพรจะไม่ทันสมัย มีเพียงผู้สูงอายุใช้เท่านั้น ในขณะเดียวกันผู้ผลิตยังให้ความสำคัญน้อยในการนำมาช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าหรือสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าด้วยบรรจุภัณฑ์ ดังนั้นเพื่อเสริมสร้างความตระหนักของผู้ประกอบการในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ วว. โดย ศบท.จะนำตัวอย่างผลงานการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสมุนไพรและสารสกัดจากสมุนไพรนำมาโชว์ในส่วนนิทรรศการ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง สบู่ และแชมพู เป็นต้น ซึ่งเป็นผลงานภายใต้โครงการ “Brand DNA by TISTR” ในปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการกับ วว. ได้มีส่วนร่วมค้นหาตัวตนของสินค้าและร่วมพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ของสินค้ากับ วว. ก่อนนำไปผลิตและใช้จริงในเชิงพาณิชย์ เพื่อต่อยอดธุรกิจของตนได้อย่างยั่งยืน เพื่อเป็นตัวอย่างหรือแนวทางให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยาและสมุนไพรได้นำไปเป็นแนวทางในการเลือกใช้และยกระดับมาตรฐานบรรจุภัณฑ์ของตนต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.