เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง รักษาราชการแทน รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานปิดงานแถลงปิดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้เชี่ยวชาญภายใต้ห่วงโซ่มันสำปะหลังลุ่มน้ำโขง (TTC) ซึ่งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวง อว. โดยศูนย์พันธุวิศกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) พร้อมพันธมิตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้รับทุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านข้าง ประจำปี 2563 เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เชี่ยวชาญของห่วงโซ่มันสำปะหลัง ซึ่งประกอบด้วย เกษตรกรผู้ผลิต นักวิชาการ บุคลากรจากภาคเอกชน และผู้ประกอบการในประเทศลุ่มน้ำโขง
ดร.จันทร์เพ็ญฯ ได้กล่าวแสดงความยินดีกับความสำเร็จของโครงการพัฒนาศักยภาพผู้เชี่ยวชาญภายใต้ห่วงโซ่มันสำปะหลังลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง โดยมันสำปะหลังเป็นพืชสำคัญทั้งในด้านอาหารและอุตสาหกรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรรายย่อยกว่า 2 ล้านคน โดยในปี 2565 ประเทศไทยได้เป็นผู้นำในการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของโลก อย่างไรก็ตาม ห่วงโซ่คุณค่าของมันสำปะหลังในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ยังมีความท้าทาย ทั้งในด้านการขาดความร่วมมือระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ ด้านความรู้ใหม่ ๆ ในการเพาะปลูก และด้านความต้องการนวัตกรรมทางเทคนิค
“ตนขอขอบคุณรัฐบาลจีนและสถานทูตจีนสำหรับการสนับสนุนความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างมาโดยตลอด และขอบคุณประเทศสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) อื่น ๆ ที่มีส่วนร่วมในโครงการนี้ ทำให้อุตสาหกรรมมันสำปะหลังในภูมิภาคของเราได้รับความต้องการมากขึ้น รวมทั้งทำให้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเกิดจากการแปรรูปอาหาร เครื่องสำอาง ยา และพลังงานหมุนเวียน โดยเราสามารถใช้โอกาสเหล่านี้ขับเคลื่อนตลาดส่งออกและสนับสนุนความเป็นอยู่ของชุมชนและสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของห่วงโซ่คุณค่ามันสำปะหลังในภูมิภาคต่อไป” ดร.จันทร์เพ็ญ กล่าว
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจฯ กล่าวว่า สวทช. ได้ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนพัฒนางานวิจัยด้านมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่งานวิจัยต้นน้ำ เช่น เทคโนโลยีการผลิตต้นพันธุ์สะอาด ระบบการสร้างต้นพันธุ์มันสำปะหลังสายพันธุ์ไทยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อการพัฒนาแนวทางการผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังจากต้นพันธุ์ปลอดโรคอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีการตัดก้านขนาดเล็ก (mini stem cutting) และการพัฒนาต้นแบบชุดตรวจแบบรวดเร็วในรูปแบบ strip test เป็นต้น งานวิจัยกลางน้ำ เช่น การวิเคราะห์ฐานข้อมูลค่ามาตรฐานกระบวนการผลิตและการใช้ทรัพยากรการผลิตของอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังไทย และงานวิจัยปลายน้ำ เช่น ต้นแบบผลิตภัณฑ์ช้อน ส้อม และมีดไบโอพลาสติกจากมันสำปะหลัง ต้นแบบวัสดุทดแทนไม้ธรรมชาติจากเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่มันสำปะหลัง และพัฒนากระบวนการผลิตฟลาวมันสำปะหลังระดับอุตสาหกรรมจากมันสำปะหลังชนิดขมที่มีปริมาณไซยาไนด์สูง พร้อมทั้งได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตฟลาวมันสำปะหลังให้กับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการผลิตผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลังระดับอุตสาหกรรม
ดร.วรินธร กล่าวว่า จากความสำเร็จโครงการและองค์ความรู้ที่สั่งสมกว่า 20 ปี ทีมวิจัยไบโอเทค มีความพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีไปยังอุตสาหกรรมมันสำปะหลังในประเทศลุ่มน้ำโขง ได้แก่ กัมพูชา ลาว เวียดนาม ไทย และยังได้ทำงานร่วมกับประเทศจีนอีกด้วย ทีมวิจัยจึงได้ริเริ่มโครงการชื่อ TTC เพื่อมุ่งพัฒนาศักยภาพผู้เชี่ยวชาญของห่วงโซ่มันสำปะหลัง ประกอบด้วย เกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลัง นักวิชาการ บุคลากรและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมันสำปะหลังในประเทศลุ่มน้ำโขง ทั้งนี้ มันสำปะหลังถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศ โดยในปี 2566 ไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดของโลก มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 70% และหากรวมกับประเทศเพื่อนบ้านลุ่มแม่น้ำโขง จะพบว่ามีส่วนแบ่งตลาดโลกสูงถึง 95% โดยผลลัพธ์จากการดำเนินโครงการ ดังกล่าวพบว่า สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีตลอดห่วงโซ่มูลค่ามันสำปะหลัง ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมการอบรมทั้งจากภาครัฐและเอกชน จำนวน 154 คน จากประเทศในแถบลุ่มน้ำโขงและสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งสามารถขยายเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมมันสำปะหลังตลอดห่วงโซ่มูลค่ามันสำปะหลังผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ
1.1 การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลและเทคโนโลยีด้านมันสำปะหลัง (Cassava Information Center)
1.2 การพัฒนาหลักสูตร คู่มือ และสื่อสำหรับการจัดอบรม 4 หลักสูตร
1.3 การอบรมผู้เชี่ยวชาญโดยจัดอบรมในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
1.4 การถอดบทเรียนการดำเนินงานโครงการ
1.5 กิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ที่ต่อยอดจากโครงการ เช่น โครงการการวิเคราะห์ฐานข้อมูลค่ามาตรฐานกระบวนการผลิตและการใช้ทรัพยากรการผลิต และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังไทย โครงการการพัฒนาโมเดลนำร่องในการสนับสนุนและขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อสร้างผลกระทบขนาดใหญ่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบองค์รวมโดยผ่านกลไกมหาวิทยาลัย (CIGUS Model) โดยใช้อุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังเป็นต้นแบบ รวมทั้งโครงการการส่งเสริมความยั่งยืนและความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพในภูมิภาคอาเซียนจากข้อมูลและประสบการณ์ของประเทศไทย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.