วันที่ 8 กันยายน 2563 รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงานและร่วมการแถลงข่าว “ความก้าวหน้าโครงการพัฒนายาชีววัตถุของประเทศ” โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) ร่วมกับคณะผู้วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาชีววัตถุ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.), โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ (National Biopharmaceutical Facility : NBF), ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย, สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน), บริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด, บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ฟาร์มา นูวา จำกัด ร่วมกันจัดงานแถลงข่าวขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตยาและวัคซีนใช้เองและเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงยาที่มีคุณภาพสูงในราคาที่เหมาะสม เป็นการลดการนำเข้าและลดการพึ่งพายาชีววัตถุจากต่างประเทศ ณ ห้องประชุม Genome ศูนย์เป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัด อว. กล่าวว่า จากการลงนามความร่วมมือ 8 ฝ่ายภายใต้ “โครงการพัฒนายา ชีววัตถุและวัคซีน เพื่อลดการนำเข้า และเพิ่มโอกาสส่งออก” เมื่อ 6 กันยายน 2560 ซึ่งเป็นโครงการระยะที่ 1 กำหนดเวลา 5 ปี การดำเนินงานโครงการในระยะ 3 ปีแรก แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จเบื้องต้นในการสร้างเครือข่ายระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ ที่ร่วมมือกันส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยและเทคโนโลยี ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยาชีววัตถุ และด้วยความแข็งแกร่งของเครือข่ายนี้ ยังผลให้เกิดองค์ความรู้ในกระบวนการผลิตต้นน้ำถึงปลายน้ำ ได้ต้นแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่คาดว่าจะมีศักยภาพในระดับที่สามารถผลักดันออกสู่ตลาดได้ นำไปสู่ประโยชน์ต่อประชาชนที่จะสามารถเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพสูงในราคาที่เหมาะสมได้เพิ่มขึ้น ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองได้ทั้งภาวะปกติ และสภาวะฉุกเฉินที่ต้องการผลิตยาขึ้นอย่างเร่งด่วน เช่น สถานการณ์โรคโควิด-19 เป็นต้น
ด้าน ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ รอง ผอ.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า TCELS มีภารกิจในการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์การแพทย์และสุขภาพให้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมแก่ประเทศ ด้วยกระบวนการสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการด้านการแพทย์และสุขภาพที่สามารถใช้งานได้จริง ทำให้เกิด ecosystem ที่พร้อมต่อการลงทุนและผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร การสนับสนุน “โครงการพัฒนายา ชีววัตถุและวัคซีน เพื่อลดการนำเข้าและเพิ่มโอกาสส่งออก” หรือ Biopharma ดังนั้น TCELS จึงได้ให้การสนับสนุนโครงการมาโดยตลอด เพื่อส่งเสริมให้กระบวนการพัฒนายาชีววัตถุตลอดเส้นทางมีความเข้มแข็ง ตั้งแต่การค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนายาใหม่ การสนับสนุนงานวิจัยในสัตว์ทดลอง หรือ Pre clinic ที่จะให้เป็นโมเดลในการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาก่อนที่จะทำการทดสอบในมนุษย์ ซึ่งจากการทำงานร่วมกันของ TCELS กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ประเทศไทยได้เป็นภาคีเครือข่ายองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เป็นหน่วยตรวจสอบการขึ้นทะเบียนแห่งชาติ ควบคุมและกำกับมาตราฐานห้องปฏิบัติการตามหลัก GLP ดังนั้น สินค้าใด ๆ ที่ผ่านการรับรอง OECD GLP จะเป็นที่เชื่อถือและยอมรับจากกลุ่มประเทศสมาชิก OECD ที่ปัจจุบันมี 37 ประเทศ สำหรับภารกิจของ TCELS ในช่วงสองปีที่เหลือของโครงการระยะที่ 1 จะเน้นไปที่การทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ การเชื่อมโยงการลงทุน และการเตรียมถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้โครงการนี้เป็นต้นแบบการเรียนรู้สำหรับการพัฒนายาชีววัตถุอื่น ๆ ของประเทศต่อไป
รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวเสริมว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในเครือข่ายความร่วมมือของภาครัฐ ภาคการศึกษาและภาคธุรกิจที่ลงนามบันทึกข้อตกลงกัน 8 ฝ่าย ภายใต้ “โครงการพัฒนายาชีววัตถุและวัคซีนเพื่อลดการนำเข้าและเพิ่มโอกาสในการส่งออก” โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS ตั้งแต่ปีงบประมาณปี 2561 จนถึงปัจจุบัน ผลของการดำเนินโครงการ 3 ปีแรก ของ มจธ. โดยโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ (National Biopharmaceutical Facility, NBF) ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ยาชีววัตถุที่มีศักยภาพในระดับที่สามารถผลักดันออกสู่ตลาดได้ในอนาคตอันใกล้ ประกอบไปด้วย ยา Erythropoietin ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการควบคุมคุณภาพจากบริษัท Biosidus ประเทศอาร์เจนติน่า และได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนปัจจุบันจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว สำหรับยาต้านมะเร็ง Trastuzumab ที่ มจธ. ได้ร่วมพัฒนากระบวนการผลิตและส่งมอบเทคโนโลยีการผลิตให้กับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เพื่อขยายขนาดการผลิตและการทดสอบทางคลินิก ส่วนยา Growth hormone และยา Immunoglobulin สำหรับ โรคมือเท้าปาก (IVIG EV71) ซึ่ง มจธ. มีส่วนร่วมในการพัฒนากระบวนการผลิต ยังอยู่ในช่วงของการทดสอบขยายขนาดการผลิตเพื่อให้พร้อมสำหรับการทดสอบความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนในการต่อยอดให้เกิดการจัดตั้งห้องปฏิบัติการเฉพาะทางด้านการวิเคราะห์และทดสอบคุณสมบัติของยาชีววัตถุและวัคซีน หรือ Biopharmaceutical Characterization Laboratory ซึ่งถือเป็นห่วงโซ่กระบวนการพัฒนายาชีววัตถุที่สำคัญที่ทำให้ระบบนิเวศอุตสาหกรรมยาชีววัตถุในไทยมีความพร้อมต่อการลงทุน เป็นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนายาชีววัตถุและวัคซีนขึ้นใช้เองในประเทศ
ข้อมูลโดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)
ข่าว : นางสาวพจนพร แสงสว่าง
ภาพ : นายภูมินทร์ ปั้นเล็ก
วีดีโอ : นายสุเมธ บุญเอื้อ
ส่วนสื่อสารองค์กร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทร. 02 333 3727 - 3732 โทรสาร 02 333 3834
E-Mail: pr@mhesi.go.th Facebook: MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.