วันที่ 11 กันยายน 2563 ศ.ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการ รมว.อว. นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ อดีตรองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวง อว. รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะผู้บริหาร อว. เยี่ยมชมผลงานสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมี ดร. ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) และคณะผู้บริหาร สวทช. ให้การต้อนรับ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
จากนั้น ผู้อำนวยการ สวทช. ได้นำเสนอภาพรวมพันธกิจของ สวทช. พร้อมทั้งได้นำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และคณะฯ เข้าเยี่ยมชมผลงานวิจัยของ สวทช. ในแต่ละด้าน อาทิ AI For Thai ผลงานนวัตกรรมป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 เช่น ชุดตรวจโรค COVID-19 ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียว ความก้าวหน้าของวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ผลงานวิจัยด้าน Green Rubber Technology ผลงานระบบกักเก็บพลังงาน โดยในโอกาสนี้ผู้บริหาร สวทช. ได้นำ รมว.อว. และคณะ ทดลองนั่งรถ EV Aluminum Bus สัญชาติไทย ตัวถังผลิตจากอลูมิเนียมขึ้นรูปผสมพิเศษ แข็งแรงกว่าเหล็กและอลูมิเนียมทั่วไปถึง 4 เท่า ซึ่งเป็นอลูมิเนียมเกรดเดียวกับที่ใช้สำหรับผลิต Super Car ผลงานความร่วมมือระหว่าง สวทช. และ บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด ผลิตขึ้นเพื่อเป็นรถต้นแบบ และเตรียมส่งมอบให้กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ใช้เป็นต้นแบบของยานพาหนะรุ่นใหม่ที่จะนำมาใช้ปฏิรูประบบขนส่งของทาง ขสมก. และยังได้โดยสารรถโดยสารไฟฟ้า ของ บริษัท รถไฟฟ้าประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ด้วย
ทั้งนี้ รมว.อว. และคณะ ได้เข้าเยี่ยมชมโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ อาทิ ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ หรือ National BioBank, ศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง หรือ ThaiSC ซึ่งให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านการคำนวณ การทำแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ในงานวิจัยและพัฒนาที่ตอบโจทย์ปัญหาขนาดใหญ่ประเทศ รวมทั้งได้เยี่ยมชมผลงานวิจัยเพิ่มเติมด้านต่างๆ ประกอบด้วย ด้านเกษตร อาทิ Plant Factory ด้านการแพทย์ เช่น Medical Devices & Implant เอกซเรย์ซีที ด้านนาโนเทคโนโลยี อาทิ Cosmeceutical เทคโนโลยีการเคลือบนาโน รวมถึงผลงานวิจัยอุตสาหกรรมอาหารสัตว์น้ำ เป็นต้น
โอกาสนี้ ศ.ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว. อว. ได้กล่าวขอบคุณ สวทช. ที่นำเสนอผลงานวิจัยที่เกิดประโยชน์ต่อประเทศ รวมทั้งได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามข้อมูลและความสนใจต่างๆ ของเยาวชน ข้อมูลการใช้ชีวิตและสุขภาพผู้สูงอายุ รวมถึงข้อมูลภาคชุมชนและประชาสังคมที่มีความเข้มแข็งทั้งเรื่องเกษตรและวัฒนธรรม ในเครือข่ายของ สวทช. และพันธมิตร เพื่อสนับสนุนและทำงานร่วมกันโดยอาศัยพลังของชุมชน เพื่อใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีส่งเสริมและสร้างโอกาสให้ชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถแก้ปัญหาของตนเองได้อย่างยั่งยืน
“ผมรู้สึกตื่นเต้นที่ประเทศไทยเราพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นมาได้ถึงทุกวันนี้ สวทช. ทำงานได้ดี และน่าจะถอดบทเรียนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ สวทช. ออกมา เพื่อทำให้เป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนและคนอื่นๆ ที่สนใจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยเป็นสถาบัน ที่ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น” รมว. อว. กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวโดย ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สวทช.
เผยแพร่ข่าว : นางสาวพจนพร แสงสว่าง
ภาพ : นายภูมินทร์ ปั้นเล็ก
วีดีโอ : นายสุเมธ บุญเอื้อ
ส่วนสื่อสารองค์กร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทร. 02 333 3727 - 3732 โทรสาร 02 333 3834
E-mail: pr@mhesi.go.th Facebook: MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.