เมื่อวันที่ 19-21 พฤศจิกายน 2564 ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวง อว. นำคณะผู้บริหารกระทรวงฯ และผู้เชี่ยวชาญจากวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) ลงพื้นที่แหล่งโบราณคดีและโบราณสถานที่สำคัญในจังหวัดสระแก้วและจังหวัดปราจีนบุรี อาทิ แหล่งโบราณคดีปราสาทเขาโล้น อุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม เมืองโบราณศรีมโหสถ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรี รวมทั้งรับฟังการบรรยายในหัวข้อ “ชีวิตก่อนความตายของคนบนแผ่นดินสุวรรณภูมิ” โดย นางประพิศ พงศ์มาศ ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดี ด้านมานุษยวิทยากายภาพ และการเสวนาธัชชานานาสาระทางวัฒนธรรม ในหัวข้อ “สุววรรณภูมิ เมืองที่ค้นหาในเชิงนามธรรมสู่การสร้างแรงบันดาลใจบนเส้นทาง ปากมังกร-ปากโขง” โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย อดีตเอกอัครราชทูตสมปอง สงวนบรรพ์ ผู้อำนวยการสถาบันโลกคดีศึกษา ธัชชา คุณชินณวุฒิ วิลยาลัย ผู้อำนวยการกองโบราณคดี กรมศิลปากร และ ดร.ศิริลักษณ์ พฤกษ์ปิติกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) โดยมี ผศ.ชวลิต ขาวเขียว คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
ปอว. กล่าวว่า เราอยู่ในพื้นที่เขตชายแดนระหว่างประเทศกัมพูชาและประเทศไทย หรือที่เรียกว่าเส้นทางปากโขง-ปากมังกร ซึ่งจะทำให้ได้เห็นการขับเคลื่อนทางอารยธรรมที่เกิดขึ้น ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมากในช่วงสองวันนี้เราจะได้รับฟังมากขึ้น และหวังว่าการดำเนินกิจกรรมแบบนี้ จะทำให้เราได้รับรู้ประวัติศาสตร์จากสถานที่จริง และทำให้กระบวนการหลอมรวมธัชชาดำเนินไปได้ดี เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์และด้านวิทยาศาสตร์ ขอขอบคุณสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)(gistda) ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ และร่วมแบ่งปันองค์ความรู้ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการศึกษาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดีต่อไป
“อยากให้การดำเนินงานต่างๆของธัชชาเป็นไปอย่างต่อเนื่องเพราะสถาบันธัชชากำลังได้รับความสนใจและถูกพูดถึงมาก รวมทั้งสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในขณะนี้เป็นเรื่องการสืบสานและดำรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรมของประเทศทั้งสิ้น” ปอว.กล่าวในตอนท้าย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.