25 มกราคม 2565 ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาเพื่อชี้แจงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2564 ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมการชี้แจง ประกอบไปด้วย ศาสตราจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายถนอม อินทรกำเนิด ศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง รองศาสตราจารย์ชรินทร์ เตชะพันธุ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ และศาสตราจารย์ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส
ปอว.กล่าวว่า การสัมมนาในครั้งนี้ถือเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเจตนารมณ์ในการดำเนินงานของ อว. ในการพัฒนาบทบาทของการอุดมศึกษาที่จะมีผลต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เป็นหนึ่งในมิติใหม่ของการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษาที่ดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม แนวทางการดำเนินงานและนำไปสู่การจัดตั้งกระทรวง อว. นั้นทำให้ภาคการอุดมศึกษา ภาควิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ซึ่งการดำเนินงานในด้านนั้นๆ สถาบันอุดมศึกษา และมหาวิทยาลัยนั้นมีบทบาทที่สำคัญ โดยที่แต่ละสถาบันสามารถที่จะดำเนินบทบาทตามจุดมุ่งหมาย จุดแข็งและตามความประสงค์ของสถาบัน นำไปสู่การจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยเป็น 5 กลุ่มสถาบันอุดมศึกษาสามารถที่จะมุ่งเน้นประเด็นต่างๆ เป็นการสนธิจุดเด่น จุดแข็งต่างๆเหล่านั้นไปสู่การดำเนินการในภาพรวม
นอกจากนี้ อว. ยังคำนึงถึงบุคลากรซึ่งคืออาจารย์ผู้ปฏิบัติงาน ทำให้เกิดการขับเคลื่อนความเป็นเลิศในทุกๆด้านก็มีบทบาทสำคัญ กลไกของการเข้าสู่ตำแหน่งความก้าวหน้าในทางวิชาการของคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาจึงสมควรที่จะสอดคล้องกับทิศทางเหล่านั้น ดังนั้น หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2565 มีสาระสำคัญอยู่หลายประการ หนึ่งในสาระสำคัญนั้นคือการให้มีช่องทางเพิ่มเติมในการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ เพิ่มเติมจากกลไกที่มีอยู่ ซึ่งจะถูกปรับปรุงให้มีความเหมาะสมเช่นเดียวกัน การแสดงถึงการช่องทางเพิ่มเติมใน 5 ด้าน ได้แก่ 1. ผลงานรับใช้ท้องถิ่นและสังคม 2. ผลงานสร้างสรรค์ด้านสุนทรียะ ศิลปะ 3. ผลงานการสอน 4. ผลงานนวัตกรรม และ 5. ผลงานศาสนา จะเป็นการเปิดให้มีช่องทางเพิ่มเติม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบุคลากรทางด้านอุดมศึกษาสามารถจะมีความเป็นเลิศและสามารถที่จะใช้ความเข้มแข็งของตัวเองขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศและยังสามารถใช้เป็นช่องทางความก้าวหน้าทางวิชาการซึ่งการดำเนินการต่างๆเหล่านี้สอดคล้องกับความหลากหลายของศาสตร์และบริบทของประเทศและของโลกที่จะมีการปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วตลอดเวลา
“เราหวังว่าคณาจารย์ของสถาบันอุดมศึกษาจะสามารถนำความรู้ ความเชี่ยวชาญในสาขาของตัวท่านเองมาใช้ในการพัฒนาประเทศ แก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ ชุมชนและสังคม ที่เน้นการใช้ได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล นำไปสู่ความสากลของอุดมศึกษาไทย ที่จะมีบทบาทในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ บทบาทนำในระดับชาติ ระดับนานาชาติ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป” ปอว. กล่าวในตอนท้าย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.