วันนี้ (25 กุมภาพันธ์ 2565) ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ปอว.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการเพื่อเร่งรัดการยุติวัณโรค วัณโรคดื้อยา และวัณโรคระยะแฝงของประเทศไทย ต่อเนื่องจากฉบับแรกที่ร่วมลงนามปี พ.ศ. 2561 สิ้นสุดปี พ.ศ. 2564 โดยมี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ กระทรวงสาธารณสุข, นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ ศ.ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมลงนาม ณ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า อว. ยินดีและถือเป็นนโยบายสำคัญ ที่จะสนับสนุนและร่วมมือทางวิชาการ กับกระทรวงสาธารณสุข เพราะนอกจากภารกิจหลักในการผลิต พัฒนาคณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ผลิตและพัฒนากำลังคน รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดงานวิจัย นวัตกรรม ที่สอดคล้องกับความต้องการของการพัฒนาประเทศแล้ว ความร่วมมือทางวิชาการก็จะนำมาซึ่งการสนับสนุนภารกิจหลักดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จได้ ในโอกาสที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้มีความร่วมมือทางวิชาการกับกองวัณโรค กรมควบคุมโรค ในการสนับสนุนการป้องกัน และดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคของประเทศ ให้บรรลุตามเป้าหมายการยุติวัณโรคในระยะที่ 1 ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการ 4 ปีและได้สิ้นสุดไปในปีที่ผ่านมา โดยได้มีผลงานร่วมกันที่เป็นประโยชน์ และเป็นที่ประจักษ์ต่อประชาชนไทยและประเทศชาติ อีกทั้งยังมีความประสงค์ที่จะร่วมมือกันทางวิชาการต่อไป เพื่อยุติปัญหาวัณโรคให้ได้ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติในระยะที่ 2
ขอขอบคุณกระทรวงสาธารณสุขที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานเรื่องนี้อย่างเต็มกำลัง อว. พร้อมสนับสนุนทุกการดำเนินการเพื่อเร่งรัดยุติปัญหาวัณโรค วัณโรคดื้อยาและวัณโรคระยะแฝงของประเทศไทย ทั้งในด้านบุคลากร องค์ความรู้และงานวิจัย ห้องปฏิบัติการในสถานศึกษา โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและบูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จากความร่วมมือนี้ ผมเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าหน่วยงานทั้งสอง จะได้วางแผนการดำเนินงาน กำหนดมาตรการ และตัวชี้วัดความสำเร็จร่วมกัน ตลอดจนร่วมกันทำงานเพื่อยุติปัญหาวัณโรคของประเทศไทยได้สำเร็จ ต่อไป ปอว. กล่าว
ทางด้าน นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการฯ ฉบับนี้ เป็นบันทึกข้อตกลงต่อเนื่องจากฉบับแรก ที่ลงนามกันเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2561 ซึ่งกำหนดระยะเวลา สิ้นสุด ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ดังนั้น กรวมควบคุมโรค และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลง ฉบับนี้ต่อ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการดำเนินงานร่วมกัน โดยมีสาระสำคัญของบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ประกอบไปด้วย 5 เรื่อง ได้แก่ 1) เพื่อพัฒนาห้องปฏิบัติการด้านวัณโรคให้มีความเป็นเลิศในระดับนานาชาติ 2) เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานด้านวัณโรคทั้งในประเทศและต่างประเทศ 3) ร่วมมือ วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการป้องกัน ค้นหา วินิจฉัย และดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรค วัณโรคดื้อยา และวัณโรคระยะแฝงสู่การยุติปัญหาวัณโรค 4) สนับสนุนการค้นหา วินิจฉัย และพัฒนาระบบการจัดบริการตรวจคัดกรอง และดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรค วัณโรคดื้อยา และวัณโรคระยะแฝง 5) จัดทำฐานข้อมูลผู้ป่วยวัณโรค วัณโรคดื้อยา และวัณโรคระยะแฝง
ศ.ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ความร่วมมือทางวิชาการกับกองวัณโรค กรมควบคุมโรค ในอันที่จะสนับสนุนการป้องกันและดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคของประเทศ ให้บรรลุตามเป้าหมายการยุติวัณโรคในระยะที่ 1 ใน 4 ปีที่ผ่านมาและมีผลงานร่วมกันเป็นที่ประจักษ์ทั้งในด้านการลงข้อมูลผู้ป่วยวัณโรคในฐานข้อมูล National Tuberculosis Information Program (NTIP) การจัดการฝึกอบรมทางห้องปฏิบัติการ การพัฒนาศักยภาพของห้องปฏิบัติการวัณโรคแห่งชาติ การตรวจเชิงรุกคัดกรองค้นหาผู้ติดเชื้อในกลุ่มผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค และการทำงานวิจัยเพื่อให้เกิดผลต่อการนำไปใช้วางนโยบายในการควบคุมป้องกัน และดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรค คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้เห็นพ้องกับกองวัณโรค กรมควบคุมโรคว่าปัญหาวัณโรคของประเทศไทยแม้จะลดลง แต่ยังไม่ถึงเป้าหมายการยุติปัญหาตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ จึงมีความจำเป็นที่เราควรจะร่วมวางแผน และดำเนินการร่วมกันต่อไป เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามกรอบบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการในระยะที่สอง ที่จะได้ลงนามร่วมกันในวันนี้
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.