(12 พฤษภาคม 2565 ) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) โดย กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ร่วมกับ สถาบันไทย - เยอรมัน (TGI) ศูนย์พันธุศาสตร์การแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และ บริษัท พี ที ดับบลิว เทคโนโลยี จำกัด ได้จัดงานแถลงข่าวความสำเร็จในการดำเนินการพัฒนาสร้างหุ่นยนต์เพื่อการปิเปตต์ (Robots for pipette) ซึ่งเป็นผลงานที่พัฒนาภายใต้โครงการพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ณ บริษัท พี ที ดับบลิว เทคโนโลยี อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
นางวนิดา บุญนาคค้า ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) กล่าวว่า ผลสำเร็จของการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อการปิเปตต์ ภายใต้โครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า ที่ได้พัฒนาขึ้นเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับนำไปใช้ในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์สำหรับการตรวจหาเชื้อ COVID-19 เป็นการช่วยลดความเสี่ยงให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ และยังสามารถประยุกต์ใช้กับกระบวนการด้านอื่นๆ ในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ได้อีกด้วย อีกทั้งยังตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาล Thailand 4.0 ที่มีการประยุกต์ใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในทางการแพทย์ และสามารถพัฒนาไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ลดการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ ส่งเสริมเพิ่มขีดความสามารถในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ และยังลดการใช้แรงงานและความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อโรคต่างๆ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่วงการแพทย์ได้เห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยี อุปกรณ์ เครื่องจักรกลต่างๆ มามาประยุกต์ใช้ร่วมกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มมาตรฐาน ลดค่าใช้จ่าย ลดเวลารวมถึงสร้างความปลอดภัยให้กับบุคคลากรทางการแพทย์มากยิ่งขึ้น
คุณสมชาย จักรกรีนทร์ ผู้อำนวยการสถาบันไทย - เยอรมัน กล่าวว่า สถาบันไทย - เยอรมัน เป็นหน่วยงานเครื่อข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม มีหน้าที่หลักคือ ช่วยพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการภาคเอกชนไทย ตามนโยบายรัฐบาล Thailand 4.0 ได้มีแนวคิดในการพัฒนาเครื่องจักรสำหรับใช้งานทางการแพทย์ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จึงได้ร่วมกับ บริษัท พี ที ดับบลิว เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการภาคเอกชน ที่มีความสนใจ มุ่งมั่น และมีความพร้อม ร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรกลต้นแบบ เพื่อให้เกิดการใช้งานได้จริงเชิงพาณิชย์ จึงเกิดเป็นการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อการปิเปตต์ขึ้นจนประสบความสำเร็จ ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ในฐานะหน่วยงานผู้ให้ทุนผ่านโครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า โดยมีศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นหน่วยงานบริหารจัดการโครงการ การพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อการปิเปตต์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับมอบให้ศูนย์พันธุศาสตร์การแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้ใช้ประโยชน์ หุ่นยนต์เพื่อการปิเปตต์จะมาช่วยในขั้นตอนการเปิดหลอดตัวอย่างส่งตรวจ COVID-19 และแบ่งตัวอย่างลงในหลอดทดลอง 2 หลอด หรือมากกว่านั้นตามความต้องการ เพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ และแยกเก็บไว้ทวนสอบ หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ ซึ่งการนำหุ่นยนต์เพื่อการปิเปตต์มาใช้งานในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์มีประโยชน์ในหลายๆ ด้าน ดังนี้
- ด้านบุคลากร : สามารถลดบุคลากรจาก 3 คน เหลือเพียง 1 คน ในการ operate หุ่นยนต์แทนการใช้แรงงานคน
- ด้านความปลอดภัย : บุคลากรเพียงแต่วางหลอดที่ยังไม่เปิดฝา ไว้บน rack จากนั้นแขนกลจะดำเนินการเปิดหลอดและแบ่งตัวอย่างตามที่โปรแกรมไว้ ทำให้ความเสี่ยงในการติดเชื้อลดลง
- ด้านกระบวนการ : สามารถวางหลอดตัวอย่างในปริมาณมากพร้อมๆ กัน ได้ โดยหุ่นยนต์สามารถเปิดและแบ่งตัวอย่างทีละตัวอย่างได้ โดยไม่เกิดความผิดพลาด สามารถทวนสอบได้ มีความรวดเร็ว
- ด้านเวลา : ลดระยะเวลาในการเตรียมและแบ่งตัวอย่างได้ จากเดิมใช้เวลาในการเตรียมตัวอย่างๆ ละประมาณ 5 นาที เหลือไม่เกิน 1 นาที และสามารถทำงานต่อเนื่องได้ 24 ชั่วโมง รวมทั้งสามารถเพิ่มหุ่นยนต์เพื่อทำงานเป็น parallel ในกรณีที่มีตัวอย่างมาเป็นจำนวนมาก
- ด้านค่าใช้จ่าย : ลดค่าใช้จ่าย เช่น อุปกรณ์ PPE ของเจ้าหน้าที่ 3 คน เหลือเพียง 1 คน เนื่องจาก หากมีการส่งตัวอย่าง ไม่สม่ำเสมอ บุคลากรก็จะต้องเปลี่ยนชุด PPE ทุกครั้งที่ต้องจัดการตัวอย่าง ซึ่งทำให้เกิดความสิ้นเปลือง
- เมื่อสถานการณ์ COVID-19 ปกติยังสามารถจะนำหุ่นยนต์เพื่อการปิเปตต์ไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น
ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) เบอร์โทร 0 2333 3924/ 0 2333 3949/ 0 2333 3956 หรือ e-mail : machine@mhesi.go.th
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.