กระทรวงการอุดมศึกษาวิทศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นเจ้าภาพการจัดงาน 12th SCiUS Forum ระหว่างวันที่ 26 - 29 สิงหาคม 2565 โดย รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานพิธีมอบรางวัลในกิจกรรมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ 12th SCiUS Forum ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.พัทลุง โดยในปีนี้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากคู่ศูนย์ 19 แห่งทั่วประเทศกว่า 1,200 คน และมีโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง 285 โครงงาน และมีโครงงานที่ได้รับรางวัลพิเศษจากกิจกรรม Popular vote 14 โครงงาน และกิจกรรม Idea pitching 3 โครงงาน
ดร.บุญเฮียง พรมดอนกอย นักวิจัยอาวุโส จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมประเมินโครงงานวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า โดยภาพรวมนักเรียนทุกคนทำได้ดีมาก โครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนมีพัฒนาที่ดีขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ๆ กิจกรรม SCiUS Forum ของโครงการ วมว. จึงเป็นกิจกรรมที่ดีที่ทำให้นักเรียนได้ฝึกฝนการทำวิจัย การนำเสนอผลงาน และรู้จักแก้ไขปัญหา จึงควรสนับสนุนให้มีกิจกรรมและโครงการดังกล่าวต่อไป ผศ.ดร.ว่าน วิริยา อาจารย์จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในทีมคณาจารย์ผู้ประเมินโครงงานและกรรมการตัดสินกิจกรรม Idea pitching กล่าวขอบคุณโครงการ วมว. แทนนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม ที่มีเวทีให้นักเรียนได้ในการแสดงออกถึงความสามารถในทุก ๆ ด้าน และได้แนะนำนักเรียนในการนำเสนอผลงานแบบ pitching ในการพัฒนาการสื่อสารวิทยาศาสตร์ (Science communication) และการเล่าเรื่อง (Story telling) ให้มีความน่าสนใจ ซึ่งจะทำให้การนำเสนอผลงานสามารถจูงใจผู้ฟังได้มากยิ่งขึ้น
นอกจากการนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์แล้ว ในกิจกรรมดังกล่าวยังมีการบรรยายสร้างแรงบันดาลใจโดยวิทยากรรับเชิญพิเศษ ศ.ดร.สุรเดช หงส์อิง ซึ่งมาบรรยายในหัวข้อ “เด็กวิทย์กับเส้นทางชีวิตที่เลือกได้” เสริมสร้างความหวังและกำลังใจในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเส้นทางชีวิตของนักวิจัยให้กับนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม และให้แนวทางการทำงานสายวิทยาศาสตร์กับนักวิจัยและคณาจารย์รุ่นใหม่ที่เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่ง ศ.ดร.สุรเดช หงส์อิง ยังมอบโอกาสพิเศษให้กับนักเรียนในโครงการ วมว. 1 คนที่เป็นคนเก่งและคนดี ร่วมทำงานวิจัยและมีสิทธิบัตรผลงานร่วมกัน โดยพร้อมสนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการทำงานวิจัย
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หนึ่งในเครือข่ายการดำเนินงานโครงการ วมว. ได้ร่วมกิจกรรมเชิญชวนน้อง ๆ นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับชาติ Young Scientist Competition หรือ YSC เพื่อส่งเสริมนักเรียนต่อยอดผลงานไปสู่ระดับนานาชาติ รวมไปถึงการเข้าร่วมโครงการที่สนับสนุนผู้มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอื่น ๆ ของ สวทช. เช่น โครงการรับนักเรียน/ครูฝึกทักษะวิจัยภาคฤดูร้อน ณ สวทช.โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (Junior Science Talent Project : JSTP) ซึ่งโครงการของ สวทช. จะช่วยต่อยอดและส่งเสริมศักยภาพของนักเรียนในโครงการ วมว. ไปสู่เวทีระดับสากล
รักษาการรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณและรักษาการคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ (ผศ.ดร.ธัญญา พันธ์ฤทธิ์ดำ) มหาวิทยาลัยทักษิณ ในฐานะที่เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน SCiUS Forum ครั้งที่ 12 กล่าวว่าการจัดงานในครั้งนี้ประสบความสำเร็จและได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกคู่ศูนย์ในโครงการ วมว ทั้ง 19 แห่ง ซึ่งกิจกรรมนี้ทำให้นักเรียนโครงการ วมว. ได้รับประสบการณ์ที่คุ้มค่ายิ่งจากคณะกรรมการในการทำวิจัยและการนำเสนอผลงาน รวมถึงการสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนจากการได้ลงพื้นที่ร่วมกับชุมชน และได้ทำกิจกรรมในทัศนศึกษาในครั้งนี้ด้วย
ด้าน รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่สำคัญของนักเรียนในโครงการ วมว. ซึ่งได้ฝ่าฟันการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ที่ต้องใช้ความพยายามและความมุ่งมั่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งการประเมินโครงงานวิทยาศาสตร์ของโครงการ วมว. ไม่ได้ปรับลดมาตรฐานตามสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อรักษาคุณภาพของผลงานที่ประเมิน จึงเป็นความน่ายินดีกับหลาย ๆ โครงงานที่ฝ่าฟันจนได้รับรางวัลตามความมุ่งหวัง อย่างไรก็ตาม จุดมุ่งหมายของกิจกรรมคือการสร้างประสบการณ์การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการกับผู้เชี่ยวชาญให้กับนักเรียนในโครงการ วมว. ซึ่งกิจกรรมตลอด 4 วันที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่านักเรียนได้รับประสบการณ์อย่างเต็มที่รวมทั้งได้แสดงศักยภาพทางวิชาการของตนเองจนเป็นที่ชื่นชมของคณาจารย์ นักวิจัย และผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงการจัดงานในครั้งนี้ได้เพิ่มกิจกรรมทัศนศึกษาที่นักเรียนต่างก็ประทับใจที่ได้เรียนรู้กิจกรรมนอกหลักสูตรจากปราชญ์ชาวบ้านอย่างใกล้ชิด ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ทำให้นักเรียนสามารถบูรณาการองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย ไปต่อยอดในการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ที่เป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ในชุมชนไปสู่การเพิ่มมูลค่าที่ผ่านกระบวนการด้านการวิจัยในอนาคตต่อไป
โครงการ วมว. เป็นโครงการที่มุ่งส่งเสริมการสร้างนักวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยผ่านการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง นักเรียนในโครงการ วมว. ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์ที่มีศักยภาพจึงจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในการสร้างงานวิจัยใหม่ ๆ และต่อยอดพัฒนางานวิจัยไปในเชิงพาณิชย์ รวมไปถึงร่วมกับคณาจารย์ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนงานวิจัยของไทยไปเวทีระดับโลก กิจกรรม SCiUS Forum จึงเป็นเวทีสำคัญในการแสดงศักยภาพและความสามารถของนักเรียนในโครงการ วมว. เพื่อก้าวสู่เวทีระดับนานาชาติต่อไป
กิจกรรม 12th SCiUS Forum ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.พัทลุง เป็นการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5 ของนักเรียนในโครงการ วมว. โดยสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นเจ้าภาพร่วมกับมหาวิทยาลัยทักษิณ จ.พัทลุง ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการระหว่างนักเรียนในโครงการ วมว. ต่างคู่ศูนย์ และนักเรียนกับคณาจารย์ นักวิจัย และผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ร่วมเป็นกรรมการประเมินโครงงานวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม Popular vote ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนที่เข้าร่วมคัดเลือกผลงานที่ชื่นชอบและกิจกรรม Idea pitching ที่ส่งเสริมการต่อยอดไอเดียทางวิทยาศาสตร์และฝึกทักษะสื่อสารและการนำเสนอผลงาน
เผยแพร่ข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.