วันที่ 18 มกราคม 2566 นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ ครั้งแรกในอาเซียนในการเปิดตัว "ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านนวัตกรรมการแพทย์แห่งประเทศไทย (Thailand Medical Innovation Center)" เพื่อยกระดับประเทศไทยให้ก้าวเป็นเมดิคัลฮับของโลก (Medical Hub) ทั้งในด้านนวัตกรรม การรักษา การพัฒนาบริการสาธารณสุข การต่อยอดองค์ความรู้เพื่อคิดค้นและวิจัยเทคโนโลยีอุปกรณ์ทางการแพทย์ และความพร้อมของบุคคลากรที่ตรงกับความต้องการของประเทศและภูมิภาค และอีกหลายโครงการที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ ระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับบริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดงาน ณ ห้องประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า "ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านนวัตกรรมการแพทย์แห่งประเทศไทย" ตั้งอยู่ ณ อินโนจีเนียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ศาลายา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์รวมนวัตกรออกแบบและวิจัยพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ การถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้ และฝึกอบรมบุคคลากรทางการแพทย์และวิศวกรรมชีวการแพทย์ของไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยการผนึกความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล และบริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) มีขอบข่ายหลายรูปแบบกิจกรรม ดังต่อไปนี้
- R&D Prototype Development: ร่วมกันส่งเสริม วิจัยพัฒนาและต่อยอดต้นแบบเป็นนวัตกรรมทางด้านสุขภาพ เทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์ เพื่อการผลิตและจำหน่ายในระดับอุตสาหกรรมต่อไป
- Training & Education: ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเครื่องมือแพทย์ระดับสูง ให้แก่ นักศึกษาและอาจารย์เพื่อพัฒนาทักษะในเครื่องมือแพทย์ เป็นศูนย์กลางฝึกอบรม-เวิร์คช้อปแก่โรงพยาบาล แพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์จากประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน เสริมประสบการณ์ระหว่างผู้ป่วย - นักศึกษา - บุคลากรการแพทย์ ในนวัตกรรมใหม่
- Clinical Research: เป็นศูนย์ดำเนินการศึกษาทดสอบทางคลินิกตามมาตรฐานสากลร่วมกับองค์กรพันธมิตรทางสุขภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พัฒนาศูนย์การเรียนรู้ครบวงจรสำหรับนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ ในประเทศและภูมิภาค"
"จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ประเทศไทย เราได้เรียนรู้ถึงความมั่นคงทางสุขภาพที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต สังคมและเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะเครื่องช่วยหายใจ ทั้งนี้ “ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านนวัตกรรมการแพทย์แห่งประเทศไทย” จะนำร่องด้วย 'เครื่องช่วยหายใจ' ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทุกโรงพยาบาลต้องมีอย่างเพียงพอจะสามารถช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยและช่วยลดความสูญเสียลงได้ โดยจะมุ่งเน้นถ่ายทอดประสบการณ์ วิธีการใช้ที่ถูกต้องและรักษาช่วยชีวิตผู้ป่วย องค์ความรู้เชิงนวัตกรรม และเทคโนโลยี ทั้งนี้ ม.มหิดลจะเป็นศูนย์กลางความรู้นวัตกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ให้กับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนด้วย พร้อมร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรให้มีประสิทธิภาพและยกระดับคุณภาพการรักษาผู้ป่วยในอนาคต"
ด้าน คุณสุชาดา ธนาวิบูลเศรษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า เมดโทรนิค เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ระดับโลก จะนำนวัตกรรมและผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมาช่วยสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีต่างๆ แก้ไขปัญหาความท้าทาย ส่งเสริมให้ประชากรทุกคนมีสุขภาพที่ดีและมีชีวิตที่ยืนยาว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เมดโทรนิค ได้ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมานานกว่า 22 ปี โดยมีพนักงานมากกว่า 90,000 คนทั่วโลก ก้าวล้ำด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ การรักษาที่มีประสิทธิภาพ และบริการที่ดีที่สุด ใน 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ 1. Cardiovascular Portfolio 2. Medical Surgical Portfolio 3. Neurosciences Portfolio และ 4. Diabetes Portfolio
ภายใต้ความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเข้มแข็ง ผ่านสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่าง ม.มหิดล จะขับเคลื่อนผู้ให้บริการด้านสุขภาพในทุกภาคส่วนอย่างมีพลัง อาทิ ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การอบรมบุคลากรที่มีคุณภาพในการทำหัตถการที่มีความซับซ้อน เพิ่มบุคลากรที่มีความรู้และทักษะไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพิ่มการเข้าถึงการรักษาที่ทันสมัยให้กับประชาชน ขับเคลื่อนนวัตกรรมผ่านงานวิจัย ยกระดับศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งล้วนถือเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาของระบบสาธารณสุขของประเทศไทยให้อยู่ในระดับสากล ตลอดจนการค้นคว้า ทดลอง วิจัยและพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมเครื่องช่วยหายใจและอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์อื่นๆ ในอนาคต โดยมีผู้เชี่ยวชาญระดับโลกพร้อมช่วยแนะนำและฝึกอบรมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.