เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566 ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้เกียรติเป็นประธานในงาน "U2T for BCG to Smart City: กาลครั้งหนึ่งเมื่อสินค้าชุมชนบุกเมือง" โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระราชูปถัมภ์ ได้รับการต้อนรับจาก รศ.ดร.สมบัติ คชสิทธิ์ รักษาการราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระราชูปถัมภ์ และผู้เข้าร่วมงาน ณ ลานกิจกรรม Zpotlight ศูนย์การค้า Zpell ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต
ดร.ดนุช กล่าวว่า โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลัง Covid - 19 หรือ มหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG เป็นโครงการที่ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้กระทรวง อว. นำไปสู่การปฏิบัติจริงในระดับพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นการทำงานโดยมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐ 70 แห่ง และมหาวิทยาลัยเอกชน 20 แห่ง ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาคส่วนต่าง ๆ ที่ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ U2T for BCG เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเห็นได้ชัด เกิดการตอบรับจากชุมชนและเสียงสะท้อนจากสังคมในวงกว้าง เป็นการสร้างปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่ของกระทรวง อว. ในการเตรียมความพร้อมและพัฒนาทักษะให้กับชุมชนเพื่อรองรับการฟื้นตัวของประเทศหลังสถานการณ์ Covid - 19 ผ่านการใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ขับเคลื่อนควบคู่ไปกับการจัดทำ Thailand Community Big Data หรือข้อมูลชุมชนขนาดใหญ่ที่มีความสมบูรณ์ครบถ้วนในทุกพื้นที่ เป็นการเข้าใจ เข้าถึงในพื้นที่มากขึ้น นำไปสู่การสร้างนวัตกรรม ผลงานวิจัย ผลงานทางวิชาการมากมาย ทำให้เราเห็นศักยภาพในแต่ละพื้นที่ ทั้งด้านทุนทางมนุษย์ ทุนทางประวัติศาสตร์ ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ ทุนทางสังคม ทุนทางประเพณีวัฒนธรรม และทุนอื่น ๆ อีกมากมาย ที่จะนำไปสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนและยกระดับให้เกิดมาตรฐาน เพิ่มช่องทางของผู้บริโภคผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โครงการ U2T for BCG เป็นการส่งเสริมให้คนในชุมชนและพื้นที่ตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม รักในท้องถิ่นบ้านเกิด เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้ พัฒนาตนเองให้เป็นผู้ประกอบการที่สร้างคุณค่าให้ชุมชนและประเทศชาติต่อไป นอกจากนี้ ดร.ดนุช ยังร่วมชมสินค้าชุมชน พร้อมให้กำลังใจมหาวิทยาลัยในฐานะหน่วยงานที่นำความรู้ไปพัฒนาสินค้าในท้องถิ่นโดยยึดหลักผลประโยชน์ของคนในชุมชนเป็นสำคัญ
ด้าน รศ.ดร.สมบัติ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระราชูปถัมภ์, มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นสถาบันการศึกษาเป็นสถาบันการศึกษาที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นให้เกิดเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคง ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ภายใต้การใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยภายในปีที่ผ่านมา ทั้ง 3 มหาวิทยาลัยได้ตอบสนองนโยบายของกระทรวง อว. กับโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลัง Covid - 19 ด้วยโมเดล BCG โดยมีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือชุมชนให้มีการรายได้อย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระราชูปถัมภ์ดำเนินการทั้งหมด 58 ตำบล ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดปทุมธานี, จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสระแก้ว ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาในโครงการทั้งหมด 114 ผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ดำเนินงานทั้งหมด 23 ตำบล ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดอ่างทอง ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาในโครงการทั้งหมด 46 ผลิตภัณฑ์ และมหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี ดำเนินงานทั้งหมด 156 ตำบล ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดปทุมธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครนายก จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดสระแก้ว และจังหวัดฉะเชิงเทรา ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาในโครงการทั้งหมด 315 ผลิตภัณฑ์ การจัดงานในวันนี้ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ผลงานความสำเร็จของทั้ง 3 มหาวิทยาลัยที่ร่วมกับกระทรวง อว. เป็นการขยายองค์ความรู้ต่าง ๆ ไปสู่ชุมชนท้องถิ่น สังคม และประเทศชาติอย่างแพร่หลายต่อไป
ภายในงาน งาน "U2T for BCG to Smart City: กาลครั้งหนึ่งเมื่อสินค้าชุมชนบุกเมือง" มีการจัดแสดงผลงานสินค้าชุมชนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระราชูปถัมภ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อีกทั้งยังมีการเสวนาถอดบทเรียนความสำเร็จ และมินิคอนเสิร์ตจากวง Jetset'er ที่จะมาสร้างบทเพลงอันไพเราะให้ผู้ร่วมงานอีกด้วย
ทำข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.