เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ร่วมงานกิจกรรมโครงการส่งเสริมการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์และแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้า U2T for BCG โดยได้รับการต้อนรับจาก นายองครักษ์ ทองนิรมล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, ผศ.นภาพร นาคทิม รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตวังไกลกังวล ณ อาคารสัมมนาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตวังไกลกังวล จ.ประจวบคีรีขันธ์
ดร.ดนุช กล่าวว่า กระทรวง อว. อุดมไปด้วยผลงานวิจัย องค์ความรู้ที่หลากหลายที่ถูกบรรจุอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย หลายคนมองว่าวิจัยเป็นผลงานที่อยู่บนหิ้ง ไม่ได้ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร กระทรวง อว. เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่อยู่เคียงข้างประชาชนในทุกสถานการณ์ ทั้งในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid - 19 กระทรวง อว. และมหาวิทยาลัยทั่วประเทศได้ร่วมกันเปลี่ยนมหาวิทยาลัยให้เป็นโรงพยาบาลสนาม รวมถึงสถานที่ฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วประเทศ และทางด้านเศรษฐกิจกระทรวง อว. ได้ทำการลดภาระด้านค่าใช้จ่ายของนักศึกษา โดยการลดค่าเทอม 50% โดยถือว่าเป็นการลดภาระให้ผู้ปกครองไปได้ระยะหนึ่ง และในปี พ.ศ. 2564 เกิดเป็นโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล นำองค์ความรู้ในมหาวิทยาลัยไปให้ประชาชนแต่ละตำบลได้ใช้สร้างอาชีพ เกิดเป็นการจ้างงาน สร้างผลกระทบเชิงบวกให้เศรษฐกิจอย่างมาก และในปี พ.ศ. 2565 โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบลได้ถูกสานต่อผ่านความร่วมมือของกระทรวง อว. อุทยานวิทยาศาสตร์ หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา (UBI) และมหาวิทยาลัยทั่วประเทศทั้งภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยสงฆ์ ด้วยการมอบองค์ความรู้แก่ประชาชนผ่านการใช้แบบจำลอง BCG หรือ Bio Circular Green Economy การผสมผสานระหว่างเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green) เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงในงานวันนี้ผู้ประกอบการใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จะได้พูดคุย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับหน่วยงานของกระทรวง อว. โดยตรง เพื่อให้กระทรวง อว. รับรู้ความต้องการของผู้ประกอบการ และลงมือแก้ปัญหาให้ตรงประเด็นต่อไป
ด้าน นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2564 เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid - 19 เกิดการจ้างงานภายในตำบล พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วภายในตำบล รวมถึงมีการรวบรวม Thailand Community Big Data หรือข้อมูลชุมชนขนาดใหญ่ที่มีความสมบูรณ์ครบถ้วนในทุกพื้นที่ เป็นการเข้าใจ เข้าถึงในพื้นที่มากขึ้น นำไปสู่การสร้างนวัตกรรม ผลงานวิจัย ผลงานทางวิชาการมากมาย เชื่อมต่อกับหน่วยงานรัฐอีกกว่า 14 กระทรวง เพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกันให้มากที่สุด
ด้าน นายองครักษ์ กล่าวว่า จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีความต้องการจะพัฒนาสินค้าของชุมชนในแต่ละหมู่บ้านและตำบล ทำให้สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่หรือกำลังดำเนินการได้รับการพัฒนาจากหน่วยงานที่มีองค์ความรู้เฉพาะด้าน และยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร การพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในแต่ละตำบล ด้วยการใช้เทคโนโลยีและส่งเสริมการตลาดแบบดิจิทัล ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน ผ่านหน่วยงานของกระทรวง อว., อว.ส่วนหน้า และมหาวิทยาลัย ให้สามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผศ.นภาพร กล่าวว่า U2T for BCG เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยประสานงานร่วมกับกระทรวง อว. และประชาชนในตำบล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ให้ได้มีช่องทางการประชาสัมพันธ์ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในจังหวัดให้ได้มากที่สุด
ทำข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.