8 กุมภาพันธ์ 2566 : ศาสตราจารย์ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การดำเนินกิจกรรมบนระบบเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา ครั้งที่ 42 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประมา ศาสตระรุจิ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา กล่าวรายงาน และได้รับเกียรติจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายเอกชัย เลิศวิบูลลักษณ์ และรองศาสตราจารย์ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุม ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดสงขลา การประชุมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย วิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษาและวิจัย กว่า 80 แห่ง จำนวน 750 คน
UniNet และ มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกันจัดงาน WUNCA ครั้งที่ 42 ขึ้น เพื่อเป็นเวทีสำหรับบุคลากรของสถาบันการศึกษาที่เป็นสมาชิกเครือข่าย UniNet ได้รับทราบข้อมูลของเครือข่ายการศึกษาวิจัย การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศบนเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบเครือข่ายระหว่างกลุ่มสมาชิก รวมถึงให้ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีเครือข่ายฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการศึกษา สนับสนุนกิจกรรมการศึกษาและมุ่งพัฒนางานวิจัย
รองปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า เมื่องาน WUNCA ครั้งที่ 41 ผมได้ฝากโจทย์ให้กับที่ประชุมไว้ 3 เรื่อง คือ เรื่องการใช้ Digital Infrastructure ร่วมกัน เพื่อจะแก้สถานการณ์ปัญหาต่างๆ ในประเทศ เรื่องของความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานอื่นๆ ของกระทรวง อว. และเรื่องของการพัฒนากำลังคนเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ซึ่ง ณ ปัจจุบันความร่วมมือดังกล่าวก้าวหน้าเป็นไปด้วยดี รวมทั้งการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งของมหาวิทยาลัยและกระทรวง อว. การแชร์ Digital Infrastructure ร่วมกันก็เป็นไปด้วยดีและมีประสิทธิภาพ
รองฯ ศุภชัย กล่าวต่ออีกว่า สำหรับวันนี้มีเรื่องที่อยากจะแชร์กันให้เห็นว่าขณะนี้เรากำลังจะเดินไปในทิศทางใดเพื่อการพัฒนาประเทศร่วมกัน ปัจจุบันกำลังจะมีกฎกระทรวงว่าด้วยข้อมูลอุดมศึกษา ซึ่งบนกฎกระทรวงจะเป็นสิ่งที่ต้องทำตาม พ.ร.บ.อุดมศึกษา ปี 2562 ว่าจะต้องมีการแชร์ข้อมูลอะไรบ้าง โดยหลักๆ แล้วกฎนี้จะชี้แจงว่าข้อมูลอะไรที่ทางมหาวิทยาลัยสถาบันการศึกษาจะต้องเปิดเผยเป็นสาธารณะ และจะต้องส่งเข้ามาที่ส่วนกลาง คือ สำนักปลัดกระทรวง อว. เพื่อที่จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ ซึ่งในปัจจุบันข้อมูลอุดมศึกษามีความสำคัญและจะทวีความสำคัญขึ้น เพราะถ้าต้องการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กำลังคนทักษะสูงของประเทศมีความสำคัญมาก และเราจะทราบได้อย่างไรว่ามีกำลังคนเพียงพอต่อการที่จะสร้างศักยภาพของประเทศได้หรือไม่ ถ้าไม่มีข้อมูลอุดมศึกษา ข้อมูลว่ามีคนในสาขาไหนมากน้อยเพียงใด ก็จะไม่สามารถวางแผนและไม่สามารถสร้างการแข่งขันได้ ข้อมูลอุดมศึกษาจึงเป็นส่วนที่จะให้คำตอบได้ว่าเรามีกำลังคนเพียงพอสำหรับความต้องการหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่ากำลังคนส่วนใหญ่จะสัมผัสกับเรื่องของ digital ถ้าเราต้องการสร้างศักยภาพของประเทศ เราจำเป็นจะต้องมีข้อมูลอุดมศึกษา และใช้ประโยชน์ในส่วนนี้ เพื่อวางแผนการพัฒนากำลังคนต่อไปในอนาคต.
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประมา ศาสตระรุจิ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา ได้กล่าวว่า UniNet และมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ร่วมกันจัดงาน WUNCA ครั้งที่ 42 ขึ้น “ภายใต้แนวคิด นวัตกรรมการศึกษาที่ยั่งยืน ในรูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ด้วยความเสมอภาคในการเข้าถึงระบบเครือข่ายสารสนเทศที่เชื่อมโยงกัน โดยภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น การบรรยายพิเศษเรื่องการพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาที่ยั่งยืน การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ การประชุม CIO สำหรับสถาบันอุดมศึกษา ความร่วมมือระหว่างเครือข่าย UniNet กับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) หัวข้อทางด้าน Telemedicine เช่น Cyber Security for Health ระบบการแพทย์ทางไกลเพื่อการให้บริการทางการแพทย์ในสังคมเมือง การบริหารจัดการความปลอดภัยของระบบสารสนเทศ การจัดการ e-Document ระบบลายมือชื่อดิจิทัลภายใต้ Thai University Consortium และการประชุมผู้บริหารห้องสมุด เพื่อขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเครือข่ายระบบห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย AI ChatGPT กับการเฝ้าระวังบทความทางการศึกษา เป็นต้น
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.